การบริหารจัดการชั้นเรียนแบบคละชั้น ความหมาย การบริหารจัดการชั้นเรียนแบบคละชั้น เป็นการดำเนินการจัดชั้นเรียนที่นำนักเรียนต่างชั้น ต่างกลุ่มอายุและต่างความสามารถมาเรียนรู้พร้อมกันในห้องเดียวโดยมีครูคนเดียวจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้เต็มตามศักยภาพ การจัดการเรียนรู้แบบคละชั้นเป็นการจัดการเรียนรู้ที่มีนักเรียนต่างชั้นต่างวัย ต่างความสามารถมาเรียนรู้พร้อมกันในเวลาเดียวกัน ดังนั้น ในการจัดการเรียนรู้จึงต้องอาศัยแนวคิดหลักการที่สำคัญ

ดังนี้ 1. เสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ในการเรียนรู้ร่วมกัน การมีนักเรียนแต่ละชั้นจำนวนน้อยทำให้บรรยากาศในห้องเรียนดูเหงา ๆ ไม่สนุกสนาน การเรียนรู้ร่วมกันเป็นกลุ่มในบางโอกาสไม่สามารถทำได้ 2. การจัดการเรียนรู้ที่เต็มตามศักยภาพ ห้องเรียนแบบคละชั้นเป็นห้องเรียนแบบธรรมชาติที่สอดคล้องกับวิถีการดำรงชีวิตปกติ และเด็กทุกคนในโรงเรียนก็จะมีครูสอนดูแลได้ตลอดเวลา 3. จัดกลุ่มเด็กที่มีพัฒนาการและระดับความสามารถในการเรียนรู้ที่ใกล้เคียงกันไว้ด้วยกัน 4. จัดประสบการณ์ให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองและเรียนรู้จากผู้อื่น การบริหารจัดการชั้นเรียนแบบคละชั้น การจัดชั้นเรียนแบบคละชั้น เป็นรูปแบบการบริหารจัดการที่นำนักเรียนหลายชั้นมาเรียนรู้พร้อมกัน เพื่อให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สถานศึกษาควรคำนึงถึงองค์ประกอบต่อไปนี้ 1. การจัดครูเข้าสอน การจัดครูเข้าสอนสำหรับชั้นเรียนแบบคละชั้น ควรคำนึงถึงข้อมูลพื้นฐาน ภูมิหลังของครูและเหตุผลในการเลือกครูเข้าสอน โดยพิจารณาว่าจะจัดครูเข้าสอนอย่างไร มีเหตุผลใด จึงจัดเช่นนั้น มีข้อดี / ข้อเสีย ของการเลือกครูเข้าสอนนักเรียนแต่ละห้องอย่างไร โดยพิจารณาถึงความรู้ ทักษะและสมรรถนะ ตลอดจนเจตคติที่จำเป็นของครูในการจัดการเรียนรู้แบบคละชั้น ดังนี้ 1.1 ด้านความรู้ ครูผู้สอนในห้องเรียนแบบคละชั้น ซึ่งมีนักเรียนต่างกลุ่มอายุต่างความสามารถเรียนรวมในห้องเดียวกัน ครูจึงควรมีความรู้ในเรื่องต่อไปนี้ 1.1.1 เทคนิคการจัดชั้นเรียนแบบคละชั้น ประกอบด้วย 1) วิธีการหลากหลายในการจัดชั้นเรียน เช่น การจัดกลุ่มทั้งชั้น กลุ่มย่อย การจับคู่ การทำงานรายบุคคล และความรู้เกี่ยวกับเกณฑ์ในการจัดกลุ่มย่อย 2) การจัดกิจวัตรประจำวันด้านการเรียนรู้ที่ทำให้เด็กคุ้นเคยจนสามารถเรียนรู้ต่อเนื่องได้ แม้ครูไม่อยู่ในชั้น เช่น การควบคุมกำกับโดยนักเรียนการใช้สื่อที่มีอยู่เพื่อให้นักเรียนเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และเป็นกลุ่ม 3) วิธีการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพสูงตามธรรมชาติของแต่ละรายวิชา 4) รู้วิธีการสอนที่หลากหลายซึ่งสามารถใช้สอนในชั้นเรียนแบบคละชั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การสอนเป็นทีม การศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง การทำงานกลุ่มย่อย การสอนเป็น ชั้นรวม การเรียนรู้โดยกลุ่มเพื่อน จัดกิจกรรมหมุนเวียนตามฐานอย่างเป็นระบบ 1.1.2 ความรู้เรื่องประโยชน์และผลดีของการสอนแบบคละชั้นทั้งด้านวิชาการและด้านอื่น ๆ 1.1.3 การจัดโครงสร้างหลักสูตรที่สมดุล ครอบคลุมการสอนเป็นรายวัน รายสัปดาห์ รายภาคเรียน และรายปี 1.1.4 วิธีการจัดพื้นที่ในห้องเรียน การจัดสื่อค้นคว้าและแหล่งเรียนรู้ทั้งใน นอกห้องเรียน สำหรับกลุ่มนักเรียนที่คละชั้น 1.1.5 วิธีการประเมินผลที่ปฏิบัติได้และมีประสิทธิภาพสามารถประเมินผลการเรียนรู้ที่คาดหวังสำหรับนักเรียนในชั้นเรียนที่สอดคล้องตรงตามสภาพจริงของผู้เรียน 1.2 ด้านทักษะและสมรรถนะ ครูผู้สอนในห้องเรียนแบบคละชั้นควรมีทักษะและสมรรถนะที่ดี ต่อไปนี้ 1.2.1 ทักษะในการจัดการเรียนชั้นเรียน โดยครูผู้สอนควรมอบหมายงานให้นักเรียนทุกคนได้ทำงานตามความสามารถและครูมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับนักเรียน 1.2.2 ทักษะการวิเคราะห์ระดับความสามารถของเด็กเป็นรายบุคคล 1.2.3 มีทักษะการจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างหลากหลายที่เอื้อต่อการเรียนรู้ที่สนองตอบตามระดับความสามารถของผู้เรียน 1.2.4 ทักษะการจัดทำ / หาสื่อส่งเสริมสนับสนุนการเรียนแบบคละชั้น 1.2.5 ทักษะในการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนที่หลากหลายตรงตามสภาพจริง 1.3 ด้านทัศนคติ 1.3.1 มีความเชื่อว่าการสอนแบบคละชั้นจะเกิดประโยชน์แก่เด็กทั้งด้านพัฒนาการทางสติปัญญาและการพัฒนาทางสังคมและอารมณ์ 1.3.2 เชื่อมั่นว่าผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เรียนรู้ร่วมกันได้ 1.3.3 ผู้ปกครองเห็นประโยชน์ของการสอนแบบคละชั้นทั้งในด้านวิชาการและด้านอื่นนอกเหนือจากงานวิชาการ 1.3.4 การจัดการเรียนการสอนแบบคละชั้นช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนครู 1.4 ด้านการเสริมสร้างวินัยเชิงบวก การจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนแบบคละชั้น ครูผู้สอนจะต้องสร้างระเบียบวินัยในห้องเรียนก่อน ตลอดจนกำหนดข้อตกลงในการเรียนรู้ร่วมกันและควรเริ่มต้นจากชั้นเล็กที่สุด เช่น ชั้นอนุบาลหรือประถมศึกษาปีที่ 1 ที่มาเข้าเรียน ครูจะแนะนำชีวิตความเป็นอยู่ กิจวัตรประจำวันและการปฏิบัติกิจกรรมในห้องเรียน โดยครูผู้สอนทั้งโรงเรียนต้องร่วมกันฝึกวินัยการเรียนรู้ในห้องเรียนแบบคละชั้น เนื่องจากห้องเรียนคละชั้น ครูจัดกิจกรรมให้นักเรียนทุกคนตามระดับความสามารถ ครูเป็นผู้ดูแล อำนวยความสะดวกให้คำแนะนำโดยหมุนเวียนไปตามกลุ่ม ดังนั้น เด็กจึงต้องมีวินัยในตนเองและรู้จักการเรียนรู้ ค้นคว้า ทั้งจากเอกสารใบงาน ใบความรู้ สื่อ ICT ต่างๆ ตลอดจนเรียนรู้ จากการทำงานร่วมกับนักเรียนคนอื่นหรือนักเรียนในชั้นต่างกันโดยไม่ต้องมีครูอยู่ในกลุ่ม แนวทางการเสริมสร้างวินัยและข้อตกลงของห้องเรียน มีดังนี้ 1.4.1 จัดทำระเบียบข้อตกลงโดยนักเรียนมีส่วนร่วม 1.4.2 มีจำนวนข้อไม่มากนัก 1.4.3 ใช้ภาษาที่จดจำได้ง่าย และบ่งบอกถึงพฤติกรรมที่ต้องการให้เกิด 1.4.4 ใช้ภาพประกอบมีสีสัน / เป็นคำกลอน

ข้อตกลงพื้นฐานพฤติกรรมที่คาดหวังในการทำงานกลุ่ม                          
        (1)  สบสายตากับผู้พูด
        (2)  ยกมือเมื่อต้องการถาม  หรือต้องการแสดงความคิดเห็น
        (3)  ใจกว้างยอมรับฟังข้อวิพากษ์จากเพื่อน
        (4)  มุ่งความสนใจที่การเรียนรู้
        (5)  พูดคุยอภิปรายด้วยเสียงเบา ๆ
        (6)  รับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมาย  และช่วยเหลือเพื่อน
        (7)  หมุนเวียนกันพูดทีละคน
        (8)  ชื่นชมแนวคิดของเพื่อน
        (9)  อยู่ร่วมกลุ่มจนเสร็จงาน
        (10)  อภิปรายผลการทำงานกลุ่มเพื่อพัฒนา
ข้อตกลงในการทำงานรายบุคคล                                                                           
        (1)  ยกมือขออนุญาตเมื่อต้องการพูดกับครู หรือเพื่อน
        (2)  รักษาความสงบในห้องเรียน
        (3)  ตั้งใจทำงานที่ได้รับมอบหมาย
        (4)  หลีกเลี่ยงการสนทนา  เรื่องนอกเหนือจากงานที่ได้รับผิดชอบ