ประวัติการเลี้ยงไก่ชน
คนไทยรู้จักการเลี้ยงไก่ชน และมีการชนไก่มาตั้งแต่หลายร้อยปี โดยมีหลักฐานที่เด่นชัด ได้แก่ พงศาวดารที่เล่าถึงการชนไก่ของพระนเรศวรมหาราชที่ใช้ไก่ชนเหลืองหางขาว นอกจากนั้น ยังพบภาพเขียนที่บอกเล่าเรื่องราวการชนไก่ของคนไทยในอดีต อาทิ ภาพวาดฝาผนังที่วัดสุวรรณดาราราม จ.พระนครศรีอยุธยา และภาพวาดฝาผนังวัดภูมิทร์ จ.เชียงใหม่ เป็นต้น

%e0%b9%84%e0%b8%81%e0%b9%88%e0%b8%8a%e0%b8%99

สายพันธุ์ไก่ชนแบ่งตามสีขน
ในตำราไก่ชนกล่าวว่า สายพันธุ์ไก่ที่เก่าแก่ของไทยที่ถูกบันทึกไว้มี 2 สายพันธุ์ คือ ไก่เหลืองหางขาว และไก่ประดู่หางดำ ต่อมาเมื่อนิยมเลี้ยงไก่ชนมากขึ้นจึงแสวงหาสายพันธุ์อื่น และถูกกล่าวขาลหรือบันทึกไว้มากขึ้นตามมา ซึ่งพอรวบรวมได้ ดังนี้
1. ไก่เหลืองหางขาว
ไก่เหลืองหางขาว ถือเป็นพันธุ์ไก่ชนที่เริ่มกล่าวขาล และถูกบันทึกไว้ครั้งแรก และถือเป็นสายพันธุ์ต้นตระกูลของพันธุ์ไก่ชนใหม่ๆหลายสายพันธุ์

ไก่เหลืองหางขาว มีถิ่นกำเนิดในแถบหมู่บ้านหัวเท และหมู่บ้านกร่าง จังหวัดพิษณุโลก ในพงศาวดารหรือตำราบันทึกต่างๆ กล่าวว่า ไก่เหลืองหางขาว เป็นไก่ชนที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชในวัยพระเยาว์ทรงเลี้ยง ซึ่งนำมาจากพิษณุโลก (ไทยตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า) และนำไปชนชนะไก่ชนของมังสามเกียด หรือ มังชัยสิงห์ ซึ่งขณะนั้นเป็นมหาอุปราชแห่งกรุงหงสาวดี หลังจากนั้น ไก่ชนไทยสายพันธุ์เหลืองหางขาวก็ถูกกล่าวขาลจากชาวพม่า และชาวไทยมาตั้งแต่นั้น

ไก่เหลืองหางขาว
ไก่เหลืองหางขาว

ไก่เหลืองหางขาว มีลักษณะเด่น คือ ไก่ชนตัวผู้จะมีขนสร้อยต่างๆเป็นสีเหลือง หางแนบชิด สลวย โคนปีกหาง และกลางหางมีสีขาวปลอด ส่วนปลายหางมีสีดำ โดยมีขนขาวแซมเล็กน้อยอยู่ 3 จุด คือ
1. ขนหัว บริเวณท้ายทอย
2. ปีกทั้งสองข้าง
3. บริเวณข้อขาทั้งสองข้าง

ส่วนพื้นตัวมีสีดำตลอดทั้งตัว ส่วนสีของปาก สีแข้ง สีเล็บ และสีเดือยจะมีสีขาวอมเหลือง คล้ายกับสีงาช้าง จะงอยปากด้านบนมีร่องน้ำ ดวงตามีสีเหลืองอ่อน และใส ส่วนนัยน์ตาขาวสามารถมองเห็นเส้นเลือดแทรกอยู่ได้ชัดเจน เรียกว่า “ตาปลาหมอ” ส่วนไก่ตัวเมียมีลักษณะคล้ายตัวผู้ แต่หางจะมีสีดำตลอด และปลายขนพื้นลำตัวมักมีสีขาวเล็กน้อย ส่วนสีของปาก สีแข้ง สีเล็บจะมีสีคล้ายไก่ชนตัวผู้

 

 

2. ไก่ประดู่หางดำ
ไก่ประดู่หางดำ เป็นไก่พันธุ์แท้ที่มีประวัติการชนไก่ดีไม่แพ้ไก่ชนเหลืองหางขาว และเป็นไก่ชนที่เซียนไก่ต่างยอมรับว่าเหนือกว่าพันธุ์อื่นรองมาจากไก่ชนเหลืองหางขาว ไก่ชนพันธุ์นี้ เชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดแถวบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา และบ้างก็ว่ามีถิ่นกำเนิดในภาคกลางแถวเขตมีนบุรี กรุงเทพฯ จังหวัดอยุธยา และจังหวัดสุพรรณบุรี มีลักษณะเด่น คือ ไก่ชนตัวผู้มีพื้นสีลำตัวดำสนิท หนังบริเวณใบหน้ามีสีแดง สีของขนสร้อยต่างๆเป็นสีประดู่ คือ ดำอมแดง คล้ายกับสีเมล็ดมะขาม และหากเป็นสีประดูอ่อน คือ มีสีแดงมากกว่าดำจะเรียกว่า ประดู่แดง และหากมีสีเข้มหรือประดู่เข้มจะเรียกว่า “ประดู่มะขามไหม้” ส่วนหางมีขนหางแนบชิดกัน หางยาวโค้งเป็นรูปพัด ขนหางมีสีดำสนิท ส่วนสีของปาก สีแข้ง สีเล็บ และสีเดือย จะมีสีน้ำตาล ส่วนตัวเมียพื้นสีลำตัวสีดำอมน้ำตาล ส่วนอื่นคล้ายกับตัวผู้

3. ไก่เขียวแมลงภู่หางดำ
ไก่เขียวแมลงภู่หางดำ หรือบางพื้นที่เรียก “เขียวไก่ดำ” จัดเป็นไก่ชนพันธุ์แท้ มีถิ่นกำเนิดในภาคใต้ มีลักษณะเด่น คือ ไก่ชนตัวผู้มีขนสร้อยต่างๆสีเขียว ส่วนขนหูมีสีเขียวอมดำ คล้ายเปลือกหอยแมลงภู่ ส่วนสีพื้นของลำตัวจะมีสีดำ และเหลือบมัน พู่หางแนบชิดกัน และเรียวยาว สีดำ ส่วนสีปาก สีแข้ง สีเล็บ และสีเดือยมีสีน้ำตาลอมดำ ส่วนนัยน์ตามีสีดำอมเขียว หงอนมีลักษณะบาง สูงเด่นบริเวณกลางหงอน ส่วนตัวเมียมีสีพื้นเหมือนกับตัวผู้ สีปลายขนมีสีอมเขียว

4. ไก่ลายข้าวตอก
ไก่ลายข้าวตอก หรือคนภาคกลางเรียก “ไก่เบี้ย” หรือคนภาคเหนือเรียก “ไก่ข่อย” ถือเป็นไก่ชนที่มีถิ่นกำเนิดในภาคเหนือ แต่ปัจจุบันเลี้ยงกันมากในแถบภาคกลาง บริเวณจังหวัดอยุธยา และสุพรรณบุรี ไก่ชนสายพันธุ์นี้ เป็นพันธุ์แท้ดั้งเดิมที่มีลำหักลำโค่นดี แต่มีข้อเสียอย่างเดียว คือ เป็นไก่ที่ไม่เหนียวไม่ทน ออกน้ำได้ง่าย มีลักษณะเด่น คือ ไก่ชนตัวผู้จะมีสีของขนสร้อยต่างๆเป็นลาย คล้ายลายของนกกระทา หรือ ลายขาวประดำ หรือประด้วยน้ำตาล และเขียว ส่วนสีของปาก สีแข้ง สีเล็บ และสีเดือย จะมีสีขาวอมน้ำตาล ส่วนสีพื้นของลำตัวจะเป็นสีลายข้าวตอก ส่วนตัวเมียจะมีสีพื้นลำตัวเหมือนตัวผู้ และมีขนสร้อยต่างๆเป็นสีเหลืองอมน้ำตาล

5. ไก่สีดอกหมากหางขาว
ไก่สีดอกหมากหางขาว เป็นไก่ชนพันธุ์แท้ที่ปัจจุบันพบได้น้อยมาก มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับไก่ชนเหลืองหางขาว และบางท่านเชื่อว่าเป็นสายพันธุ์ที่มาจากไก่เหลืองหางขาว โดยมีถิ่นกำเนิดในภาคกลาง มีลักษณะเด่น คือ ไก่ชนตัวผู้จะมีสีพื้นเป็นสีดำ ขนสร้อยของส่วนคอ สร้อยปีก และและสร้อยอื่นๆ เป็นสีขาวอมเหลือง คล้ายกับสีของดอกหมาก พู่หางชิดกัน และยาวตรง โคนหางมีสีขาวอมตะกั่ว ปลายหางมีสีดำ ส่วนสีปาก สีแข้ง และสีเล็บ รวมถึงสีเดือยมีสีขาวอมเหลือง ส่วนตัวเมียมีลักษณะคล้ายกับตัวผู้เช่นกัน

 

 

6. ไก่เขียวเลาหางขาว
ไก่เขียวเลาหางขาว หรือแต่ก่อนเรียก ไก่เลา (เพราะขนมีสีเหมือนดอกเลา) เป็นไก่ชนพันธุ์แท้ดั้งเดิมที่มีถิ่นกำเนิดในแถวจังหวัดเพชรบุรี ไก่ชนพันธุ์นี้ มีลักษณะทั่วไปคล้ายประดู่เลา ไก่ชนตัวผู้มีขนสร้อยต่างๆสีเขียวแกมขาว คือ โคนขนมีสีขาว ปลายขนมีสีเขียว หางโค้งเป็นรูปพัดสีดำ ปลายหางมีสีขาว หรือสีดำอมเขียว ส่วนสีปาก สีแข้ง และสีเล็บ รวมถึงเดือยมีสีขาวอมน้ำตาล

7. ไก่ทองแดง
ไก่ทองแดง เป็นไก่ชนพันธุ์แท้พันธุ์หนึ่ง แต่ไม่ทราบแหล่งกำเนิดที่แน่ชัด พบเล่นมากในแถวภาคกลาง และตะวันตก แถบจังหวัดอยุธยา สระบุรี และราชบุรี จัดเป็นไก่ชนที่มีแข้งหนัก มีลำหักลำโค่นดี ตีแม่น และหนักหน่วง ลำตัวมีลักษณะเด่น คือ ตัวผู้ที่เป็นไก่ชนจะมีนัยน์ตาสีแดง ขนของสร้อยคอ ขนปีก และขนหลังจะมีสีทองแดงเด่นชัดส่วนปาก แข้ง และเล็บจะมีสีน้ำตาลอมทองแดง ส่วนตัวเมียจะมีสีคล้ายกับตัวผู้ แต่สีจะจางกว่า คล้ายสีกาบอ้อย ทั้งนี้ ปัจจุบันไก่ชนพันธุ์นี้ค่อนข้างหายากมาก ส่วนมากจะเป็นพันธุ์ผสมร่วมกับพันธุ์ อื่น อาทิ ขนมีสีทองแดง แต่แข้งมีสีเขียวดำ

8. ไก่แดงนกกรด
ไก่แดงนกกรด จัดเป็นไก่ชนเชิงดี มีลูกหักลูกโค่น แต่ไม่ค่อยเหนียวหรืออดทนนัก จึงไม่ค่อยนิยม ไก่ชนตัวผู้มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับไก่ชนเหลืองหางขาว แต่ต่างกันที่ไก่แดงนกกรดจะมีขนสร้อยคอ ขนสร้อยปีก และขนหน้าอกเป็นลายแดงคล้ายกับขนนกกะปูด ส่วนพื้นสีลำตัวจะมีสีดำ โดยมีสีขนของปีกท่อนล่างจะเป็นสีแดงอมน้ำตาลคล้ายกับสีปีกแมลงสาบ ส่วนหางมีรูปพัดหรือหางกะลวดสีดำ ส่วนตามีสีแดง ส่วนสีปาก สีแข้ง สีเล็บ และเดือยมีสีน้ำตาล

9. ไก่เหลืองโนรี
ไก่ชนตัวผู้ของเหลืองโนรี มีลักษณะเด่น คือ ขนสร้อยคอ ขนปีก และขนสร้อยหลัง มีสีเหลืองสด ส่วนขนสร้อยบริเวณอื่นๆก็จะมีสีเหลืองสดเช่นกัน ส่วนสีพื้นของขนส่วนอื่นจะมีสีดำ หางพัดสีดำ คล้ายกับหางนกกะปูด ตามีสีเหลืองอมแดง ส่วนสีปาก สีแข้ง และสีเล็บมีสีขาวอมเหลือง และขอบเกล็ดแข้งมีสีแดงคล้ำ ส่วนตัวเมียมีสีพื้นสีดำ

 

 

10. ไก่เทา
ไก่เทา ถือเป็นไก่ชนที่มีเชิงดี มีลำหักลำโค่น แต่เป็นไก่ที่ไม่ค่อยเหนียว ไม่ค่อยอดทนนัก แบ่งได้เป็น 3 ลักษณะ คือ
– ไก่เทาหม้อ หรือเรียกเทาดำ เทาขี้ควาย มีลักษณะเด่นที่สีขนของสร้อยต่างๆมีสีประดูดำ หางสีดำอมเทา ส่วนปาก แข้ง และเล็บมีสีเทาตะกั่ว
– ไก่เทาขาว หรือเรียกเทาขี้เถ้า มีลักษณะเด่นที่สีพื้นมีสีเทา ส่วนสีสร้อยขนต่างๆมีสีเทาอ่อน ส่วนขนหางมีสีมีสีเทาเช่นกัน ส่วนปาก แข้ง และเล็บมีสีขาว
– ไก่เทาเหลือง หรือเรียก เคราฤาษี มีลักษณะเด่น คือ สีขนของสร้อยต่างๆมีสีเหลือง ตัวสีพื้นลำตัวมีสีเทา ส่วนหางมีสีขาว ส่วนสีปาก สีแข้งสีเล็บ และสีเดือยมีสีขาวออกเหลืองเล็กน้อย

ลักษณะไก่ชนที่ดี

ลักษณะปากของไก่ชนที่ดี
ปากไก่ ถือเป็นส่วนสำคัญของไก่ชน เพราะเป็นส่วนที่ใช้จิกหรือจับให้คู่ต่อสู่อยู่นิ่งหรือให้อยู่ในระยะที่ไก่สามารถขึ้นตีได้ถนัด ดังนั้น หากลักษณะปากไม่ดี ไม่สามารถจิกคู่ต่อสู้ได้ถนัด ย่อมส่งผลให้ไก่มีโอกาสแพ้หรือออกไก่ได้ง่าย ปากไก่ชนที่ดีมี 5 ลักษณะ คือ
1. ปากสกุลร่องน้ำ
ปากสกุลร่องน้ำ เป็นปากที่มีขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโคนปาก มีลักษณะเด่นที่สีปากมีสีเดียวตลอด และเป็นสีเดียวกันหรือเข้ากับสีแข้ง เล็บ และเดือย รวมถึงมีร่องน้ำเด่นเป็นแนวยาวจากโคนปากถึงปลายปาก มีปลายปากงุ้มลงเล็กน้อย ไก่ที่มีปากลักษณะนี้ ได้แก่ ไก่เหลืองหางขาว เป็นต้น

2. ปากมังกรคาบแก้ว
ปากมังกรคาบแก้ว หรือบางท้องที่เรียก ปากคาบเพชร ลักษณะทั่วไปจะคล้ายกับปากสกุลร่องน้ำ แต่จะเด่นรองกว่า และต่างกันที่ ปากมังกรคาบแก้วจะมีประสีดำ สีแดง หรือสีขาวแซม ไม่เป็นสีเดียวตลอด ถือเป็นปากไก่ที่สามารถจิกคู่ต่อสู้ให้เป็นบาดแผลได้ง่าย จิกยึดคู่ต้อสู้ได้ดี

3. ปากปัดตลอด
ปากปัดตลอด เป็นปากที่มีสีดำหรือสีขาวขุ่น มีลักษณะคล้ายกับปากสกุลร่องน้ำ แต่ต่างที่จะมีสีเดียว ไม่มีสีอื่นหรือประสีอื่นปน และไม่มีรางน้ำข้างปาก ปากชนิดนี้ หากมีสีเดียวกันหรือเข้ากันได้กับสีแข้ง เล็บ และเดือยแล้ว ถือว่าเป็นไก่ที่เก่ง มีลำหักลำโค่น เป็นที่หมายปองของนักชนไก่

4. ปากนกแก้ว
ปากนกแก้ว เป็นปากที่สั้น แต่มีความแข็งแรง และแหลมคม ส่วนฐานหรือโคนปากกว้างใหญ่ ปลายปากแหลม และงุ้มลง ปากชนิดนี้ เป็นรองปากปัดตลอดเล็กน้อย แต่ได้เปรียบที่สามารถจิกให้คู่ต่อสู้เป็นแผลได้ง่าย แต่การจิกรั้งหรือคาบไว้จะไม่ค่อยดีนัก เพราะปากสั้น ปากอ้าได้น้อย

 

 

5. ปากใหญ่
ปากใหญ่ เป็นปากที่มีขนาดใหญ่ และยาว คล้ายปากอีกา แต่ปลายปากไม่โค้งงุ้มลงมาก ปากลักษณะนี้ จิกคู่ต่อสู่จนได้แผลที่ทำให้คู่ต่อสู้ออกไก่จากบาดแผลได้ง่าย จิกจับคู่ต่อสู้ให้อยู่นิ่งได้ง่าย ทำให้ขึ้นตีได้ง่าย มีโอกาสชนะไก่สูง

ลักษณะแข้งไก่ชนที่ดี
1. ไก่แข้งกลม
ไก่ชนแข้งกลม หรือเรียก แข้งคัด หรือ แข้งเรียวหวาย เป็นลักษณะแข้งที่สวยงาม ลำแข้งกลมที่เกิดจากโครงสร้างของกระดูกแข้งที่สมบูรณ์ มีการเรียงตัวของเกล็ดแข้งเป็นระเบียบ บริเวณกลางแข้งโค้งไปด้านหลังเล็กน้อยเพื่อรองรับน้ำหนักตัวไก่ ไก่ชนที่มีแข้งลักษณะนี้ มักมีแข้งกะทัดรัด เรียวงาม แข้งไม่ใหญ่มากนัก เป็นไก่ที่ขึ้นตีเร็ว ขึ้นตี่ถี่ ขึ้นตีได้ต้อมหรือตีแม่น แข้งไม่กางห่าง มีลำหักลำโค่นดี ส่วนมากมักขึ้นตีบริเวณลำคอ และหัว

2. ไก่แข้งเหลี่ยม
ไก่ชนแข้งเหลี่ยม เกิดจากลักษณะโครงสร้างของกระดูกหน้าแข้งที่มีลักษณะเป็นเหลี่ยมหรือมีการเรียงตัวของเกล็ดหน้าแข้งแถวใดแถวหนึ่งยกตัวสูงกว่าแถวอื่นๆจนทำให้มีลักษณะเป็นเหลี่ยมเกิดบริเวณแถวเกล็ดที่ยกตัวสูง หากมีแถวเกล็ดยกตัวเป็นสันอยู่ด้านข้าง เรียกว่า เกล็ดแข้งเปิดปีก ไก่ชนลักษณะนี้ มักมีแข้งขนาดใหญ่ และใหญ่กว่าแข้งแบบกลม มักขึ้นตีได้หนักหน่วง ขึ้นตีทั้งลำตัว ลำคอ และหัวไก่ แต่ส่วนมากมักตีลำตัว และส่วนคอเป็นหลัก มีลำหักลำโค่นดี

สำหรับความเหลือบมันของแข้งหรือเกล็ดแข้ง เซียนไก่มักให้คำเรียกไว้ คือ หากแข้งเป็นมัน เรียกว่า แข้งเปียก แต่หากแข้งไม่มีเหลือบมันหรือไม่เป็นมันวาว เรียกว่า แข้งแห้ง

สำหรับแข้งไก่ชนบางตัวที่มีสีแตกต่างจากสีแข้งเดิม คือเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม ซึ่งอาจปรากฏหลังการซ้อมหรือการชนไก่ หรือเกิดขณะเลี้ยง ลักษณะแข้งเปลี่ยนสีนี้ เกิดจากเลือดคั่งบริเวณลำแข้ง แข้งเกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อหุ้มแข้งที่เกิดจากการขึ้นตีของไก่ เมื่อพบอาการนี้ ให้หยุดชนไก่หรือซ้อมทันที เพราะจะทำให้แข้งอักเสบมากขึ้น แล้วนำปล่อยหรือขังเพียงลำพังหรือกันไก่ตัวผู้ตัวอื่นออกให้ห่าง ไม่ให้ชนกันอีก ซึ่งอาการนี้จะค่อยๆหายเองตามธรรมชาติ

ลักษณะไก่ชนที่แพ้หรือออกไก่ง่าย

1. เดือยเล็ก และสั้น
เดือยไก่ถือเป็นอาวุธสำคัญที่สุดของไก่ชน ทำหน้าที่ทิ่มแทงคู่ต่อสู้ให้มีบาดแผลจนต้องออกไก่หรือตายขณะต่อสู้ ตัวเดือยทั่วไปมีลักษณะกลม โคนเดือยใหญ่ และเรียวเล็กลง จนแหลมคมที่ปลายเดือย ไก่ชนที่มีเดือยใหญ่ และยาว ย่อมได้เปรียบ และทำให้คู่ต่อสู้กลัว ไม่กล้าเข้าชน แต่หากไก่ชนตัวใดมีเดือยสั้นหรือเล็กมาก ทั้งๆที่โตตัวเต็มวัยแล้ว มักตีคู่ต่อสู้เจ็บหรือมีบาดแผลได้น้อย กว่าจะทำให้คู่ต้อสู้เจ็บตัวเองก็ย่อมก่อน และหากคู่ต่อสู้มีเดือยใหญ่ และยาวกว่า ก็ย่อมมีโอกาสแพ้ง่ายตามมาด้วย

2. แข้งยาวเก้งก้าง
ไก่ที่มีแข้งยาวจะได้เปรียบเฉพาะที่ส่วนสูงจะเหนือกว่า แต่เวลาเปรียบก็จะได้ความสูงไล่เลี่ยกัน ทำให้สัดส่วนลำตัวด้อยกว่า เมื่อถึงเวลาชนจะเสียเปรียบที่กะระยะการขึ้นตียาก ต้องอยู่วงนอกหรืออยู่ห่างจึงจะใช้อุ้งขาหรือเดือยตีเป้าหมายได้ ขึ้นตีทีไรมักไม่หนัก มีแต่แข้งขาถูกเป้าหมาย ไม่มีลำหักลำโค่น และโอกาสมักมีน้อย เพราะไก่ชนส่วนใหญ่จะตีในระยะประชิด ทำให้ตัวเองขึ้นตีไม่ถนัด ขึ้นตีไม่ถูกจุดสำคัญ และหากคู่ต่อสู้สมส่วน ย่อมมีโอกาสถูกตีแต่ฝ่ายเดียวจนออกไก่ได้ง่าย

3. นิ้วเท้าสั้น และบิดงอ
ไก่ชนที่มีนิ้วเท้าสั้น จะทำให้การทรงตัวลำบาก เพราะนิ้วเท้ากางเป็นฐานได้น้อย อีกทั้ง ไม่มีแรงหรือมีแรงน้อยในการกระโดด เพราะสมดุลจะไม่มี การทรงตัวลำบาก เป็นอุปสรรคต่อการกระโดดเป็นอย่างมาก และหากนิ้วเท้าบิดงอ ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะจะทรงตัวลำบากมากขึ้น และที่สำคัญจะกระโดดได้ยาก ทำให้ขึ้นตีคู่ต่อสู้ไม่ได้ ถูกตีฝ่ายเดียว จนออกไก่ได้ว่าย

4. โครงสร้างปีกเล็ก และบาง
ปีกทำหน้าที่สำคัญช่วยในการกระโดด โดยเฉพาะโครงสร้างปีก และขน หากโครงสร้างปีกสั้น มักมีขนสั้น สนับปีกบาง ขนเปราะหักวิ่น แรงกระพือปีกน้อย ทำให้กระโดดได้ไม่สูง และตีเป้าหมายได้ลำบาก ขึ้นตีแต่ละครั้งไม่ถูกเป้าหมาย ตีไม่มีกำลัง จนตัวเองล้าได้ง่าย เป็นฝ่ายถูกตีตลอด มีโอกาสออกไก่ได้ง่าย

5. หัว และหน้าใหญ่กลม
ไก่ชนที่มีหัวใหญ่ และหน้ากลม มักเป็นไก่เชื่องช้า ไม่มีความเฉลียวฉลาด ไม่สู้กัน เป็นไก่ตีเชิงเดียว รวมถึงหากคิ้วบางแล้วยิ่งเป็นไก่ไม่ดี คิ้วจะแตกเป็นแผลง่ายเวลาชน รวมถึงเสี่ยงต่อตาแตก เลือดคั่งตา และหากนัยน์ตากลม มีขอบตาหนา ตาส่ายลอกแลกแล้ว ยิ่งเป็นไก่ไม่มีน้ำอดน้ำทน ออกไก่ง่าย

6. หงอนเล็กไม่ถึงท้ายทอย และมีสีซีดไม่แดงสดใส
ไก่ชนที่มีหงอนเล็ก ไม่ยาวมาถึงท้ายทอย มักมีโอกาสถูกตีจนแตกเป็นแผลได้ง่าย เพราะไม่มีส่วนมาปกคลุม โดยเฉพาะเวลาเจอไก่ชนที่ชอบตีหัว และหากมีสีซีดแล้ว ยิ่งบ่งบอกว่าร่างกายไม่สมบูรณ์ รวมทั้ง 2 อย่างนี้ มักเป็นไก่ไม่มีน้ำอดน้ำทน ออกไก่ง่าย ชนทีไรต้องได้แผลทุกครั้ง และเสี่ยงต่อการแพ้ง่าย และหากปลายหงอนอยู่ตรงกับนัยน์ตาแล้ว เซียนไก่มักทำนายว่า มีโอกาสถูกตีจนตาบอดได้ง่าย

7. เหนียงใหญ่ และยาน
ไก่ชนที่ทีเหนียงใหญ่ ยาว และห้อยยาน หรือที่เรียกว่า “เหนียงคางวัว” มักเป็นไก่ชำราญ ชอบกิน ชอบผสมพันธุ์ ไม่เป็นไก่นักสู้ และเป็นจุดด้อยที่สำคัญเวลาชนไก่ เพราะคู่ต่อสู้จะจิกจับเหนียงขึ้นตีได้ง่าย ทำให้มีโอกาสแพ้ง่ายตามมา

8. ปากยาวหรือสั้นเกินไป
ไก่ชนที่ปากยาวมาก มักมีโอกาสปากฉีกหรือหักได้ง่าย เพราะทั่วไปหากปากยาวจะรับแรงกระแทกขณะจิกได้ยาก โดยเฉพาะปากแบบเรียวยาว ฐานปากไม่ใหญ่ เมื่อปากหักแล้วก็หมดเครื่องมือที่จะช่วยขึ้นตีได้ อีกทั้งยังเจ็บแผล ทำให้ถูกตีเพียงฝ่ายเดียว มีโอกาสแพ้ได้ง่าย ส่วนไก่ปากสั้นมาก มักจิกจับคู่ต่อสู้ได้ยาก เพราะอ้าปากได้ไม้กว้างพอ ทำให้ขึ้นตีได้ไม่ถนัด แต่ปากมีโอกาสหักได้น้อย และจิกคู่ต้องสู้ให้เป็นแผลได้ง่าย

9. คอยาวหรือสั้นเกินไป
ไก่ชนคอยาว เหมือนคออูฐมักเสียเปรียบคู่ต้อสู้ เพราะคู่ต่อสู้จะมีพื้นที่ตีได้มาก และตัวเองจะเชื่องช้าลง เพราะคอไม่มีความสมดุล หากชนในสังเวียนที่ต้องใช้กำลังมาก กำลังจะขาด เหนื่อยง่าย เพราะเลือดไหลเวียนช้า และต้องอยู่ห่างในระยะที่เหมาะสมจึงจะจิกยึดคู่ต่อสู้ได้ ส่วนไก่ชนที่คอสั้นเกินไปจะเสียเปรียบคู่ต่อสู้ที่ต้องเข้าชิดตัว เพื่อให้ตัวเองอยู่ในระยะที่ใช้หัวจิกคู่ต่อสู้ได้ และที่สำคัญ การมีคอสั้นมักจะทำให้ความสูงน้อยกว่าคู่ต่อสู้ ทำให้เป็นไก่เล็กกกว่า และคอยตั้งรับอย่างเดียว มีโอกาสแพ้ได้ง่าย

10. หน้าอกสอบแคบ
ไก่ชนที่มีหน้าอกเล็กหรือสอบแคบ มักเป็นไก่ร่างเล็กหรือซูบผอม เป็นไก่ที่มีกำลังน้อย กระโดดไม่สูง ไม่มีลำหักลำโค่น ตีเบา ไม่หนักหน่วง หากเจอคู่ต่อสู้ที่โครงสร้างใหญ่กว่าจะเสียเปรียบ จะถูกตีฝ่ายเดียว ไก่ลักษณะนี้ออกไก่ได้ง่าย เพราะมักตัวเล็กกว่าหรือมีกำลังสู้ไม่ได้

11. ลำตัวยาวเหมือนลูกฟัก
ไก่ที่มีลำตัวยาว คือ มีโครงสร้างกระดูกลำตัวยาว มักไม่สมส่วนกับโครงสร้างขา ทำให้ขารับน้ำหนักมาก เวลากระโดดจะลำบาก กระโดดได้ต่ำ เพราะทรงตัวลำบาก ทำให้ขึ้นตีคู้ต่อสู้ได้ยาก ขึ้นตีกระเปราะกระแปะ ไม่มีน้ำหนัก ไม่ถูกเป้าหมาย ไม่มีลำหักลำโค่น และความสูงจะน้อย เวลาเปรียบคู่ต่อสู้จะเสียเปรียบ เรียกว่า ต้องจับสองท่อน หากเจอคู่ต่อสู้ที่ดีกว่าจะเสียเปรียบมาก ต้องเขย่งตี หรือต้องกระโดดกำลังมาก ถูกตีแต่ฝ่ายเดียว จนออกไก่ได้ง่าย

12. หลังแคบ และโก่งนูน
ไก่หลังแคบจะเป็นไก่ที่มีโครงสร้างมาจากไก่หน้าอกเล็กหรือหน้าอกแคบ คือ เป็นไก่โครงสร้างเล็ก และหากมีโครงสร้างยกสูง คือ สันหลังโก่งนูน ยิ่งเป็นไก่บอบบาง เป็นไก่กำลังน้อย ขึ้นตีไม่แม่น ตีเปราะแประ ไม่มีกำลัง ไม่มีลำหักลำโค่น สุดท้ายเป็นไก่ไม่อด เพราะถูกตีแต่ฝ่ายเดียว ออกไก่ได้ง่าย

13. หางโค้งยาวเหมือนหางไก่แจ้
ไก่หางยาวมาก มักเสียเปรียบเวลาล้ม เพราะมีโอกาสคู้ต่อสู้หรือตัวเองเยียบหางได้ง่าย โดยเฉพาะเวลาถอย หรือล้ม เมื่อถูกเหยียบหาง ไก่จะคล้ายถูกล็อก กลายเป็นเป้าให้ถูกตีได้ง่าย แต่ได้เปรียบ เป็นไก่เชิงลุก ไม่ล้มง่าย จะกำจัดจุดด้อยนี้ได้

14. สร้อยคอสร้อยหลังขาด
ไก่ที่มีสร้อยคอบริเวณหลังคอขาดแหว่ง เซียนไก่มักเปรียบเหมือนไก่ไม่มีสกุล คือ เป็นไก่พันธ์ผสม ไม่เป็นสายพันธุ์แท้หรือพันธุ์มีน้อย เพราะมีเลือดพันธุ์หลายสาย ไก่ประเภทนี้ เอาแน่เอานอนไม่ได้ อาจมีชั้นเชิงดี เพราะมีเลือดหลายสาย แต่ส่วนมากมักมีน้ำอดน้อย เซียนไก่มักเลี้ยงไว้เพื่อเป็นไก่ซ้อม

15. กระปุกน้ำมันอยู่ห่างจากกลางลำตัวมาก
ไก่ที่มีกระปุกน้ำมันอยู่ห่างจากกลางตัว เซียนไก่บอกไว้ว่า เป็นไก่เชื่องช้า ไม่อดน้ำทน หากมีกระปุกน้ำมันถึง 2 อัน มักออกไก่ง่าย ไม่เป็นที่นิยมเลี้ยง

ชั้นเชิงไก่ชน

ชั้นเชิงไก่ชน แบ่งออกเป็น 4 ลักษณะ ได้แก่
1. ไก่ตั้ง
ไก่ตั้ง เป็นไก่ที่ชอบชูหัวขึ้นสูงกว่าคู่ต่อสู้ มักเดินเข้าหา แต่จะไม่วิ่งมาก เพียงเข้าตีหรือคอยดักตีคู้ต่อสู้ ไก่ชนลักษณะนี้ เป็นที่นิยมเช่นกัน เพราะคู้ต่อสู้ตียาก มีลำหักลำโค่นที่หนักหน่วง และแน่ชัด

2. ไก่ลง
ไก่ลง เป็นไก่ที่ชอบหมุดหัวลงด้านล่างหรือก้มหัวลงต่ำกว่าคู่ต่อสู้ แล้วคอยดักจังหวะตีเป็นระยะ ไก่ชนประเภทนี้ ไม่ค่อยนิยมนัก เพราะมักจะถูกตีหัวหรือโดนหักลำได้งาย และมักมีนิสัยไม่อด ไม่ทน

3. ไก่กอด
ไก่กอด เป็นไก่ที่เกิดจากการผสมระหว่างไก่ตั้งกับไก่ลง คือ จะตั้งหัวคอยดักตีก็ไม่ใช่ จะหมุดหัวลงต่ำก็ไม่ใช่ แต่จะชอบใช้หัว และคอเข้ารัดคู้ต่อสู้ และตีเป็นระยะ

4. ไก่เชิง
ไก่เชิง ถือว่าเป็นไก่ชนที่มีความฉลาดในการต่อสู้ เป็นไก่ที่มีทักษะการชนหลากหลาย ทั้งเป็นไก่ตั้ง ไก่ลง และไก่กอด มีความรวดเร็ว มีลำหักลำโค่นให้เห็นบ่อย ถือเป็นไก่ชนที่ได้รับความนิยมมากที่สุด แต่ไก่ชนประเภทนี้จะต้องเลือกพันธุ์ที่มีน้ำอดน้ำทนจึงจะดี

การเลี้ยงไก่ชน

รอเพิ่มข้อมูล

การปฏิบัติก่อน และช่วงพักยกเวลาชนไก่

1. การต่อขน
ขนไก่เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ไก่บินได้สูง เพราะขนไก่จะช่วยพยุงตัวไก่ขึ้นขณะกระพือปีกขึ้นลง หากปีกไก่ไม่มีขนหรือมีขนน้อย ตัวไก่ก็จะกระโดดขึ้นได้ไม่สูง ไม่สามารถตีหรือใช้ขาหรือเดือยทำอันตรายจุดเป้าหมายได้

การต่อขนไก่จะทำก่อนการซ้อมหรือการนำไก่ลงชนในสังเวียน หรืออาจต่อขนไก่ขณะพักยก เพราะมีขนบางอันหัก โดยเซียนไก่บางคนอาจต่อขนไก่เมื่อมีขนไก่หักเพียงเส้นเดียว แต่บางคนอาจไม่ต่อ เพราะขนส่วนมากยังใช้การได้ดี แต่แท้จริงแล้ว ยิ่งทำให้ขนไก่ทุกขนมีความสมบูรณ์ ก็ยิ่งช่วยให้ไก่กระพือปีกได้สมบูรณ์ โดยเฉพาะไก่เชิงตีตอหรือตีส่วนบนที่หัวหรือลำคอ เพราะไก่เชิงนี้จะต้องกระโดดขึ้นให้สูง จนได้ระยะตีที่เหมาะสม

การต่อขนไก่ เซียนไก่จะเลือกขนไก่ที่สมบูรณ์ ไม่รอยแหว่งขาด โดยเฉพาะปลายขน และเลือกให้มีสีเดียวกันกับขนที่หัก จากนั้น วัดระยะที่ต้องการต่อด้วยการนำขนไก่มาทาบทับโคนขนที่หัก พร้อมทำเครื่องหมายจุดที่ต้องการตัด โดยให้ยื่นทับปลายขนที่หักเข้ามาประมาณ 2 เซนติเมตร จากนั้น ตัดส่วนโคนขนที่เหลือทิ้ง

การต่อขนไก่ หลังวัดระยะที่ต้องการต่อ และตัดส่วนเกินของขนต่อออกแล้ว ให้เด็ดขนไก่ของขนต่อออก ก่อนนำกาวแท่งมารนไฟจนอ่อนตัว แล้วป้ายทาขนต่อ จากนั้น ให้รีบวางก้านขนต่อทับปลายของก้านขนที่หัก แล้วใช้นิ้วกดทิ้งไว้ชักพักจนกาวแห้งก็เป็นอันเสร็จ ทั้งนี้ อาจใช้เส้นด้ายผูกมัดไว้อีกชั้นก็ยิ่งดี

2. การแต่งเดือย
รอเพิ่มข้อมูล

3. การให้น้ำ
รอเพิ่มข้อมูล

4. การคลึงเสมหะหรือยอนคอ
ไก่ในระหว่างชนกันในสังเวียนจะมีการหายใจเร็ว และขับน้ำคัดหลั่งเหนียวหรือเสมหะออกมามาก ซึ่งจะเกาะตามลำคอของไก่ ทำให้ไก่หายใจลำบาก และหากได้ยินเสียงดังคอรอกๆขณะไก่หายใจ ยิ่งแสดงว่ามีเสมหะมาก ไก่หายใจลำบาก ทำให้กำลังในการขึ้นตี เมื่อพักยก เซียนไก่จะทำการคลึงเสมหะหรือเรียกว่าการยอนคอ เพื่อนำเสมหะหรือน้ำคัดหลั่งออกให้หมด ช่วยให้ไก่หายใจได้สะดวกขึ้น

การคลึงเสมหะจะเริ่มด้วยการนำขนไก่ มาจุ่มน้ำล้างไก่ที่ต้มไว้ร้อนๆ เพื่อฆ่าเชื้อ และทำให้ขนไก่ชุ่มน้ำ ก่อนใช้มือรีดน้ำออก หลังจากนั้น ใช้นิ้วง้างปากไก่ออก แล้วน้ำปลายขนไก่สวนลงปากไก่ พร้อมหมุน 3-5 รอบ ก่อนนำขนไก่ออก และรีดน้ำเมือกออก แล้วชุบน้ำล้างไก่อีกครั้งก่อนสวนลงอีก 2-3 รอบ สุดท้ายนำน้ำล้างไก่อุ่นๆหยอดลงปากไก่เป็นอันเสร็จ

ขนไก่ที่ใช้คลึงเสมหะ โดยทั่วไปเซียนไก่จะใช้ขนหางหรือขนปลายปีกที่ยาวมากกว่าขนส่วนอื่น ขนไก่ไม่ฉีกขาดหรือแหว่งส่วนใดส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะปลายขนไก่ ซึ่งห้ามแหว่งเด็ดขาด เพราะหากแหว่งจะทำให้ก้านขนไก่ทิ่มลำคอได้ และควรนึ่งฆ่าเชื้อมาก่อนแล้ว ทั้งนี้ การคลึงเสมหะจะใช้ทั้งการซ้อม และการชนจริงในสนาม

5. การประคบกระเบื้อง
การประคบกระเบื้อง เป็นการประคบด้วยน้ำร้อนที่ช่วยให้กล้ามเนื้อไก่ และเส้นเอ็นไก่คลายตัว และลดอาการบวมช้ำหรือป้องกันการเลือดคั่งในกล้ามเนื้อ และแผลไก่ การประคบกระเบื้องจะทำในช่วงพักยก โดยเซียนไก่จะใช้ผ้าชุบน้ำล้างตัวไก่ แล้วบิดพอหมาดๆ ก่อนนำผ้าไปวางหรือใช้ผ้าปาดบนกระเบื้องร้อนๆที่อิงบนเตาถ่าน หลังจากนั้น นำผ้ามาประคบหน้าไก่หรือหัวไก่ ส่วนการประคบแผลไก่จะทำหลังเย็บปิดแผลแล้ว นอกจากการชุบน้ำล้างไก่แล้ว เซียนไก่อาจใช้วิธีนำสมุนไพรมาห่อด้วยผ้า อันประกอบด้วยใบตะไคร้ ใบพลับพลึง หัวไพล และพิมเสนหรือเพียงใช้ใบตะไคร้ก็ได้ หลังจากนั้น นำห่อสมุนไพรมาจุ่มน้ำให้เปียก ก่อนนำห่อสมุนไพรมาอิงกระเบื้อง แล้วนำไปประคบหัวไก่หรือเช็ดตามใบหน้าหรือตัวไก่ ทั้งนี้ การนำผ้ามาอิงกระเบื้อง ไม่ควรอิงนานจนผ้าร้อนมาก แต่เพียงอิงให้รู้สึกร้อนที่เราสามารถจับได้ก็เพียงพอ เพราะหากร้อนมากจนจับไม่ได้ ก็แสดงว่าไก่ก็ร้อนมากเช่นกัน

6. การถักปากหรือกระสังปาก
ปากไก่ชนในระหว่างชนไก่หรือหลังชนไก่มักได้รับความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นปากฉีก ปากหัก ปากมีรอยแตกร้าว ปากโยกคลอน หรือถอนหลุดออก ทำให้ไก่ชนไม่สามารถใช้ปากจิกยึดคู่ต้อสู้ได้ เพราะเจ็บแผลที่ปาก ทำให้มีโอกาสถูกตีแต่ฝ่ายเดียว และแพ้ได้ง่าย

อาการเหล่านี้ เซียนไก่แก้ไขด้วยวิธีถักปากหรือการกระสังปาก ซึ่งจะทำได้เฉพาะปากบนเท่านั้น เพราะมีที่ผูกยึด ส่วนปากล่างไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีที่ผูกยึด การถักปากทำได้โดยนำเส้นด้ายเย็บผ้ามาถักรัดบริเวณปลายปากด้วยเงื่อนตายหลายรอบ ก่อนนำปลายเส้นด้ายโยงมาผูกรัดไว้กับหงอนไก่ ส่วนปากหัก แต่โคนปากไม่เสียหาย ปากไม่โยกคลอน ให้ใช้ปากเทียบสวมต่อให้เป็นปลายปากแทน

7. การล้างตาไก่ การรักษาตาไก่ และการถ่างตาไก่
สำหรับการมองเห็นของไก่ชนถือเป็นส่วนสำคัญในการชนไก่ให้ชนะ โดยทั่วไปก่อนแข่งหรือนำไก่ลงสนาม เซียนไก่จะดูแลตาไก่ด้วยการล้างตาไก่ทุกๆเดือน โดยเฉพาะก่อนลงสนาม 2-3 เดือน หรือขณะชนไก่ที่หากตามีดินปนเปื้อนหรือมีเลือดเข้าตาไก่ ก็จะทำการล้างตาไก่ในช่วงพักยก ซึ่งนิยมใช้ทั้งน้ำยาล้างตาสัตว์ และยาสมุนไพร รวมถึงน้ำเปล่าต้มสะอาด โดยน้ำยาล้างตาสัตว์สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาปศุสัตว์ ส่วนยาสมุนไพรล้างตา เซียนไก่นิยมนำยางข่อยผสมกับน้ำกลั่นหรือผสมกับน้ำต้มสะอาด และอาจผสมกับยาปฏิชีวนะร่วมด้วย ส่วนวิธีล้างตาไก่ เซียนไก่จะใช้หลอดดูดน้ำที่ใช้เป็นหลอดดูดทั่วไปมาจุ่มลงในน้ำยา จากนั้น ใช้นิ้วปิดปลายหลอดด้านบน แล้วยกขึ้น ซึ่งน้ำยาจะติดในหลอด ก่อนปล่อยหยดลงตาไก่ 2-3 หยด หลังจากไก่กระพริบตาแล้ว ให้ใช้ผ้าสะอาดเช็ดรอบขอบตาไก่

สำหรับไก่ที่มีตาบวมมากจนหนังตาปิด ซึ่งอาจปิดข้างเดียวหรือปิดทั้งสองข้าง ไก่ไม่สามารถถ่างตาตามปกติได้ เซียนไก่จะใช้วิธีเย็บถ่างตาไก่เพียงเข็มเดียวในหนึ่งจุด และเย็บ 2 จุด คือ ขอบหนังตาบน และขอบหนังตาล่าง ซึ่งจะต้องพิถีพิถัน ระวังไม่ให้เข็มจิ้มถูกนัยน์ตาไก่เป็นอันขาด หลังจากเย็บ ให้ล้างด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำยาล้างตาไก่อีกครั้ง

8. การเย็บแผลไก่ และการไขหัวไก่
ในระหว่างชนไก่ บางครั้งมักเกิดบาดแผล โดยเฉพาะการชนกับคู่ต่อสู้ที่มีเดือยหรือมีเดือยยาว ซึ่งแผลส่วนมากมักเกิดบริเวณหัว ท้ายทอย ขอบตา ใบหน้า และลำคอ รวมถึงอาจพบบริเวณหน้าอกลำตัว หลังจากการพักยก เซียนไก่จะต้องเย็บปิดบาดแผลก่อนลงสนาม โดยเฉพาะแผลบริเวณหัวที่มักมีเลือดไหลย้อยลงมาเข้าตาไก่ได้ ซึ่งจะทำให้ตาไก่มองไม่เห็นจนเสียเปรียบคู่ต่อสู้ และอาจแพ้ได้ง่าย

การเย็บปิดบาดแผล เซียนไก่จะล้างทำความสะอาดบาดแผลด้วยน้ำเปล่าก่อน แล้วสังเกตบริเวณบาดแผล หากบาดแผลบวมใหญ่มักมีเลือดคั่ง ให้ใช้ปากดูดเลือดออกจากบาดแผลก่อน 2-3 ครั้ง หรือใช้มือกดไล่บีบให้เลือดไหลออก หากเป็นแผลที่หัวจะเรียกว่า การไขหัวไก่ ซึ่งเกิดได้บ่อยที่สุด ก่อนนำผ้าชุบน้ำล้างไก่ที่ผสมสมุนไพร แล้วบิดน้ำออกพอหมาดๆ ก่อนนำอิงกระเบื้องให้ร้อน แล้วนำมาประคบบาดแผลสัก 1-2 นาที หลังจากนั้น นำเข็มที่ถักเชือกมาร้อยเย็บแผล หลังจากนั้น นำผ้าที่อิงกระเบื้องมาประคบ และลูบเช็ดอีกครั้ง ก่อนปล่อยให้ไก่พักผ่อน ทั้งนี้ การเย็บปิดบาดแผล ควรหยิบให้ถี่พอประมาณ และไม่ควรปักเข็มลงลึกถึงกล้ามเนื้อ ให้ปักเข็มเพียงบริเวณหนังด้านนอกก็เพียงพอ และควรใช้เข็มเย็บแผลปลายงอนที่แพทย์หรือพยาบาลใช้ ไม่ควรเข็มหยิบผ้าทั่วไป เพราะเข็มมีความคม และจะเย็บได้เร็ว

ขอบคุณภาพจากkaichonthailandfight.com/