ประเทศไทย ถือเป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์มาตั้งแต่สมัยโบราณ ด้วยชัยภูมิที่ตั้งที่พอเหมาะพอดีทั้งในแง่สภาพอากาศ ความชื้น และทรัพยากรธรรมชาติในดิน ทำให้ประเทศไทยถูกขนานนามจากผู้ที่สนใจทางด้านพฤกษศาสตร์และชอบศึกษาข้อมูลพันธุ์ไม้ในดินแดนต่างๆ ทั่วโลกว่า ประเทศไทย เป็น ดินแดนมหัศจรรย์แห่งพรรณไม้ ที่มีพรรณไม้ที่พบมากกว่า 18,162 ชนิดตามบันทึกสถิติข้อมูลพันธุ์ไม้ของไทย สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และบางชนิดก็เป็นพันธุ์ที่หายากและพบได้ที่ประเทศไทยเพียงแห่งเดียวในโลก จะมีความน่าสนใจอย่างไร มาตามไปชมกันเลย

  1. ลักษณะพรรณไม้ในป่าของไทย

ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น มีลักษณะภูมิอากาศที่หลากหลาย ในบริเวณส่วนต่างๆ ของประเทศเช่นทางตอนเหนือจะมีลักษณะอุณหภูมิที่หนาวเย็นในช่วงฤดูหนาว ส่วนทางใต้สุดจะมีอากาศร้อน ชื้นและมีฝนตกชุกมากกว่า เพราะอยู่ใกล้บริเวณเส้นศูนย์สูตร อย่างไรก็ดีป่าไม้ส่วนใหญ่ที่พบในไทยสามารถจำแนกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

  • ป่าประเภทที่ไม่ผลัดใบ (Evergreen) ป่าประเภทนี้จะเขียวชอุ่มชุ่มชื่นอยู่ตลอดทั้งปีด้วยความอุดมไปด้วยพรรณไม้ที่ส่วนใหญ่ไม่ผลัดใบ ป่าชนิดสำคัญซึ่งจัดอยู่ในประเภทนี้  ได้แก่ ป่าชนิดที่มีคำนำหน้าว่าดิบชนิดต่างๆ เช่น ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา หรือป่าสนเขา รวมถึงป่าที่อยู่บริเวณชายฝั่งทะเลและมหาสมุทร อาทิ ป่าชายเลน ป่าพลุ
  • ป่าประเภทที่ผลัดใบ (Deciduous) จะมีภูมิทัศน์ที่หลากหลายและแตกต่างไปตามฤดูกาล เช่นในฤดูฝนป่าประเภทนี้จะมองดูเขียวชอุ่มแต่พอฤดูแล้งมาเยือน พืชพรรณส่วนใหญ่จะพากันผลัดใบทำให้ป่ามองดูโปร่งขึ้น ป่าชนิดสำคัญที่จัดอยู่ในประเภทนี้  ได้แก่ ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง นั่นเอง     
  1. พันธุ์ไม้ไทย หายาก ที่นักสะสมต้องไม่พลาด

พรรณไม้ต่างๆ ที่พบในไทย บางชนิดจัดได้ว่าเป็นพันธุ์ไม้หายาก และเป็นที่ต้องการของบรรดาเหล่านักสะสมอย่างมาก บ้างก็มีรูปลักษณะสวยงาม บ้างก็มีความหมายเป็นมงคล ซึ่งพรรไม้ที่จัดได้ว่าหายากและมีราคาสูงในตลาดตอนนี้ได้แก่ ว่านเพชรหึง หรือกล้วยไม้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โตเต็มที่อาจสูงได้ถึง 3 เมตร มีดอกสีเหลือง หรือสีเขียวอ่อนและมีจุดสี รองเท้านารีเหลืองกาญจน์ จัดว่าเป็นกล้วยไม้ที่หายากยิ่งในธรรมชาติ มีดอกสีเหลืองสวยงาม เอื้องเขาพระวิหาร กล้วยไม้ให้ดอกสวย ชอบขึ้นอยู่ตามหินหน้าผา ซอกหิน หรือท่อนซุง ไม่ต้องการแดดจัด ปรงทะเล เป็นไม้กอพุ่ม มีใบเรียงยาวถี่ๆ สีเขียวเข้ม ใบอ่อนสีแดงสวยงาม มักปลูกเป็นไม้ประดับตามบ้านราคาแพง .จันทน์ผา เป็นไม้ประดับท้องถิ่นในประเทศไทย ส่วนใหญ่พบได้ตามป่าเขาหรือภูเขาหินปูน สูงประมาณ 5 – 7 ฟุต ใบจะแตกออกบริเวณยอด ใบสีเขียวเข้ม เป็นรูปหอก ใบเรียวและยาว นิยมปลูกประดับไว้ตามสนามหญ้าหรือใช้ตกแต่งร่วมกับสวนหิน 

  1. พันธุ์ไม้ชนิดใหม่ที่พบในไทยเป็นที่แรดของโลกมีดังนี้

นอกจากพันธุ์ไม้ที่มีชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่วโลกดังที่ได้กล่าวมานี้แล้วประเทศไทยยังเป็นดินแดนมหัศจรรย์แห่งพรรณไม้ ที่ดึงดูดความสนใจของเหล่าบรรดานักพฤกษศาสตร์จากทั่วโลกให้เข้ามาสำรวจและทำบันทึกพันธุ์ไม้แปลกๆ ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา โดยล่าสุดก็ได้มีการค้นพบพันธุ์ไม้ชนิดใหม่ของโลกถึงเกือบ 8 ชนิด ซึ่งได้แก่

  1. กะเพราถ้ำพระ พบบริเวณใกล้น้ำตกถ้ำพระ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว จ.บึงกาฬ เป็นไม้ล้มลุก ใบเรียงตรงข้าม ช่อดอกออกตามซอกใบ ลักษณะเป็นช่อกลมแน่นเรียงห่าง ๆ กัน ปลายแยกเป็นแฉกบน 3 แฉก แต่ละแฉกปลายแหลม แฉกล่าง 1 แฉก ปลายมนกลม กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสีขาว ผิวมีขน
  2. ม่วงบุศบรรณ ไม้ล้มลุก พบบริเวณทางเข้าน้ำตกถ้ำพระ จ.บึงกาฬ เช่นกัน มีลักษณะเป็นไม้ล้มลุก ใบเรียงตรงข้าม ช่อดอกออกตามซอกใบ ลักษณะเป็นช่อหลวม ๆ เรียงห่าง ๆ กัน กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นแฉกบน 1 แฉก ปลายแหลม แฉกล่าง 1 แฉก ปลายมนกลม กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสีม่วง ขอบกลีบปากมีขนยาวสีม่วง
  3. เห็มรัตน์ภูลังกา พบบริเวณอุทยานแห่งชาติภูลังกา จ.บึงกาฬ เป็นไม้ล้มลุกใบเรียงตรงข้าม ช่อดอกออกตามซอกใบเรียงชิดติดกันที่ปลายลำต้น ลักษณะเป็นช่อคล้ายทรงกระบอก กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นแฉกบน 3 แฉก แต่ละแฉกปลายแหลมถึงมนกลม แฉกล่าง 1 แฉก ปลายมนกลม กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสีขาว ผิวมีขน
  4. ข้าวตอกภูแลนคา พบบริเวณริมหน้าผา อุทยานแห่งชาติภูแลนคา จ.ชัยภูมิ เป็นไม้ล้มลุก ใบเรียงตรงข้าม ช่อดอกออกตามซอกใบ เรียงห่าง ๆ กัน ดอกในช่อจำนวนน้อย กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดกว้าง ปลายแยกเป็นแฉกบน 3 แฉก แฉกกลางขนาดใหญ่สุด บิดโค้งขึ้น ปลายแหลมถึงมนกลม แฉกข้าง 2 แฉกมีขนาดเล็ก ปลายแหลม แฉกล่าง 1 แฉก ปลายมนกลม กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด สีขาวอมม่วง โคนหลอดด้านบนมีติ่ง ผิวหลอดมีขน
  5. ม่วงศรีโพธิ์ไทร พบบริเวณ วนอุทยานภูล้อม อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี เป็นไม้ล้มลุก ใบเรียงตรงข้าม ช่อดอกออกตามซอกใบ ลักษณะเป็นช่อหลวม ๆ เรียงชิดกันแต่มีช่องว่าง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นแฉกบน 3 แฉก เมื่อเป็นผลเห็นเป็นแฉกเดียว ปลายมนกลม โดยแฉกข้างลดรูปลงไปมาก แฉกล่าง 1 แฉก ปลายมนกลม กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสีม่วง เกสรเพศผู้ชี้ตรงเห็นเด่นชัด
  6. พรรณรายภูวัว หางไหลภูวัว มีลักษณะเป็นไม้เถา พบบริเวณใกล้น้ำตกถ้ำพระ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว จ.บึงกาฬ ใบประกอบแบบขนนก เรียงเวียน มีใบย่อย 5-7 ใบ ช่อดอกออกตามซอกใบหรือตามกิ่งแก่ ดอกสีชมพูอมม่วงแดง กลีบดอกบนด้านหลังมีแถบตามยาวสีแดงอมน้ำตาล ผลเป็นฝักแบน เมล็ดค่อนข้างกลม
  7. หางไหลทุ่งใหญ่ พิไลสมราน พบบริเวณลำธารหินปูน หน่วยพิทักษ์ป่ากะแม่สอด เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก ใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 5-9 ใบ ผิวใบด้านบนเป็นร่องตามเส้นแขนงใบชัดเจน ช่อดอกออกตามซอกใบ ดอกสีชมพูอมม่วง
  8. เอื้องมรกตพุทธวงค์ เป็นอีกหนึ่งกล้วยไม้ชนิดใหม่ของโลก พบบริเวณเขาหินปูนแถบอ่างขาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ มักขึ้นบนเขาหินปูน ใบ 2 ใบ แผ่ติดดิน ขนาดไม่เท่ากัน ดอกออกเป็นช่อตั้งขึ้น ดอก 5-15 ดอก ดอกสีเขียวมรกต กลีบปากขนาดใหญ่ มีสันตรงกลางตามยาว