สกศ. ยกร่างมาตรฐาน “ศูนย์เด็กเล็ก” คุม 3 ด้าน บริหารจัดการ การจัดการเรียนรู้ และคุณภาพเด็ก ตามแนวทาง คกก.พัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ
วันนี้ (26 มิ.ย.) ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ประชุมหารือกรอบการประเมินความพร้อมของศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยเพื่อพัฒนาสู่ระดับอนุบาลศึกษา ร่วมกับผู้แทนองค์กรหลักกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารสถานศึกษา นักวิชาการ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และหน่วยจัดการศึกษาอื่นๆ โดยยึดยุทธศาสตร์แนวทางคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ (ก.พ.ป.) เป็นแกนกลางเพื่อสร้างเอกภาพการขับเคลื่อนพัฒนาเด็กเล็กอย่างเป็นเอกภาพทั้งระบบ ทั้งนี้ นายแพทย์ ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมาย สกศ. ทำหน้าที่ประสานงานด้านวิชาการกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาปฐมวัยตามยุทธศาสตร์ ก.พ.ป. โดยเน้นเป้าหมายหลักปฏิบัติได้จริง และสอดคล้องกับทุกหน่วยงายสามารถต่อยอดขยายสถานศึกษารองรับเด็กเล็กได้อย่างทั่วถึงทั้งประเทศ และสร้างกลไกหรือเครื่องมือขับเคลื่อนการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
ดร.กมล กล่าวว่า สกศ. ดำเนินการยกร่างมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ พ.ศ. 2560 สำหรับรองรับเด็กแรกเกิดจนถึงก่อนเข้าประถมศึกษาปีที่ 1 โดยมีมาตรฐานหลัก 3 ด้าน คือ 1. การบริหารจัดการสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย 2. การดูแลและกระบวนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้และการเล่นเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย และ 3. คุณภาพของเด็ก ซึ่งแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 2 ปี และอีกช่วงระหว่างเด็กอายุ 3 – 6 ปี หรือช่วงก่อนเข้าประถมศึกษาปีที่ 1 ทั้งนี้ ได้กำหนดตัวบ่งชี้ไว้แล้วทุกด้านโดยคณะทำงาน สกศ. จะได้หารือร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กเล็ก และผู้แทนหน่วยงานจัดการศึกษาระดับปฐมวัยที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดแนวทางขับเคลื่อนสอดรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 54 และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 28/2559 จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย
“แนวทางดังกล่าวได้รับแรงสนับสนุนจากคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ที่มี ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธาน ซึ่งได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการทั้งสิ้น 6 คณะ โดยมีคณะอนุกรรมการด้านเด็กเล็กเป็น 1 ในคณะอนุฯ ดังกล่าว ทั้งนี้ จะได้ดำเนินงานตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 258 จ. เพื่อปฏิรูปการศึกษาโดยกำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนการศึกษาซึ่งมีความครอบคลุม 3 ด้าน คือ 1. กองทุนสำหรับผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา โดยเฉพาะครอบครัวที่มีเด็กเล็กสามารถส่งเด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษา เพื่อให้เด็กเล็กได้รับการพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย 2. กองทุนลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งกระทบกับเด็กเล็กโดยตรงเพื่อพัฒนาและขยายโอกาสสามารถเข้าถึงระบบการศึกษาอย่างทั่วถึง และ 3. กองทุนเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครูที่จะมาสอนเด็กเล็ก” ดร.กมล กล่าว