โดย…ดร.กุลบุตร โกเมนกุล รองคณบดีฝ่ายบริหารและวิเทศสัมพันธ์ วิทยาลัยนานาชาติ และอาจารย์ประจำสาขาการเงินและการลงทุน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต
ปัญหาการผิดนัดในการชำระหนี้ (Default) หรือหนี้เสียของ “กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)” มีมานาน ซึ่งแก้ปัญหาไม่ตก จนส่งผลต่อมายังนักเรียนและนักศึกษาปัจจุบันนี้ที่ต้องการเงินทุนกู้ยืมนั้นไม่เพียงพอต่อความต้องการ จนต้องออก พ.ร.บ. กยศ. พ.ศ. 2560
ข้อแตกต่างระหว่าง พ.ร.บ.กยศ.พ.ศ. 2541 และ ฉบับใหม่ หลักๆ ได้แก่ คุณสมบัติของผู้กู้, การปรับอัตราดอกเบี้ยการชำระคืน, การเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้กู้, การนำเงินที่ผู้กู้ชำระหนี้ไปหาผลประโยชน์ในการลงทุนได้ และช่องทางในการชำระหนี้
ส่วนประเด็นสำคัญที่ถกเถียงกันมากนั้นคงเป็นเรื่องของช่องทางการชำระหนี้ โดยเปิดช่องให้ นายจ้างหักเงินเดือนลูกจ้างคืนกองทุน กยศ.
เรื่องปัญหาการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา (Student loan) ที่จริงแล้วไม่ได้เกิดแค่ในประเทศไทย แต่มี ปรากฏอยู่ทั่วโลก และไม่ได้มีเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา (Developing countries) แต่ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และ สวีเดน ก็ยังคงเผชิญหน้ากับปัญหาดังกล่าว ถึงแม้ว่าบางประเทศจะไม่มีค่าเทอม (Zero tution fees) แต่นักเรียนนั้นก็ยังคงกู้เพื่อมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการครองชีพ ทำให้มีงานวิจัยระดับนานาชาติมากมายพยายามศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลต่อการผิดนัดชำระหนี้ รวมถึงสร้างหนทางแก้ไข
ผลงานวิจัยต่างๆ สรุปปัจจัยหลักของการผิดนัดชำระหนี้ จะเป็นในเรื่องของลักษณะของสถาบันการศึกษา (Institution characteristics), พื้นฐานของนักเรียนแต่ละคน (Student background), ลักษณะโครงสร้างทางครอบครัว (Family structure) และ ทัศนคติและการตระหนักถึงหนี้ทางการศึกษา (Attitude and awareness regarding education debt)
ดังนั้น เมื่อพิจารณาปัจจัยต่างๆ แล้ว ในประเทศไทย ผมเสนอ 4 แนวทางในการลดปัญหาการเบี้ยวหนี้ กยศ. ดังนี้ 1. กลุ่มนักศึกษา และนักเรียนที่เข้าร่วมกองทุน กยศ. นั้น ไม่ควรผูกรวมกัน (Pool) เป็นลูกหนี้ชั้นเดียว แต่ควรจำแนก (Classify) เป็นกลุ่มชั้น แล้วใช้แผนการจัดกระบวนการชำระหนี้ที่แตกต่างกัน โดยพิจารณาจากความเสี่ยงทางด้านเครดิต (Credit risk) ในแต่ละกลุ่มชั้น
2. การปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นแต่ไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ทั้งนี้ มีแหล่งข่าวรายงานว่า ดอกเบี้ย กยศ. ที่ต่ำนั้นเป็นแรงจูงที่ทำให้ borrowers หรือผู้กู้ เลี่ยงที่จะไปชำระเงินกู้จากแหล่งดอกเบี้ยที่สูงกว่าก่อน เช่น ถ้ามีบัตรเครดิต ผู้กู้ก็จะเลือกชำระหนี้บัตรเครดิตที่มีอัตราดอกเบี้ย ค่อนข้างสูงก่อน
3. ผมคิดว่าเราควรใช้หลักบริหารทางการเงินในเรื่อง “Agency problem” โดยใช้ทั้ง “Stick and Carrots” โดยเลือกที่จะใช้รางวัลจูงใจ (Reward) ถ้าผู้กู้มีวินัยในการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย เช่น การ maintain คงไว้ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำและเพิ่มส่วนลด (Discount) ส่วนในกรณีที่เริ่มมีการผิดนัดชำระ ให้ใช้การลงโทษ (Punishment) โดยการปรับขึ้นดอกเบี้ยหรือค่าปรับต่างๆ
4. ปัจจัยสำคัญอีกประการที่ส่งผลต่อการผิดนัดชำระหนี้ คือ ทัศนคติและการตระหนักถึงหนี้ทางการศึกษา ดังนั้น ทางฝ่ายผู้รับผิดชอบนั้นอาจจะมีการหมั่นอบรมปลุกจิตสำนึก รวมถึงการให้ความรู้ในเรื่องการมีวินัยทางการเงิน (Financial Literacy) รวมถึงเปิดเผยกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จให้กับผู้กู้ กยศ.และ เพื่อให้นักเรียนและนักศึกษาได้มีทักษะการวางแผน การเงินในระยะยาว ฉะนั้น ถ้าผู้กู้มีเจตนาที่จะผิดนัดชำระหนี้อยู่แล้ว ผู้กู้คงหนีออกจากระบบการทำงานในบริษัทหรือองค์กรต่างๆ แล้วไปทำงานรับจ้างที่ไม่ใช่งานประจำ (Part-time) แทน ในบางกรณีอาจจะมีการเปลี่ยนย้ายสำมะโนครัว
โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับ พ.ร.บ. ฉบับใหม่ และช่องทางการชำระโดยการหักจากเงินเดือน โดยในประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ใช้วิธีพิจารณาปรับอัตราการชำระจากฐานเงินเดือนในปีก่อนหน้า ระบบ income-based repayment โดยที่คนที่มีรายได้สูงจะมีระยะเวลาคืนหนี้ที่สั้นกว่าคนที่มีรายได้ต่ำ
นอกจากนี้ ในกรณีที่หนี้ กยศ. นั้นค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับรายได้ของผู้กู้ เราอาจจะมีการปรับใช้ระบบ Pay As You Earn (PAYE) โดยสามารถปรับค่าชำระคืนแต่ละงวดได้โดยคำนวณจากรายได้และขนาดของครอบครัว เป็นต้น
ท้ายที่สุดแล้วมาตรการหักเงินนี้ก็คงไม่ใช่ทั้งหมดในการแก้ปัญหาหนี้ทางการศึกษา ถ้าเรายังไม่สามารถที่ปลูกจิตสำนึกแล้วสร้างความรับผิดชอบ และความมีวินัยทางการเงินให้กับนักเรียน และนักศึกษาที่เข้าร่วมกู้ยืมกองทุน กยศ.