จากการประชุมสัมมนาผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 101 โรง หัวข้อ “ไทยรัฐวิทยา 4.0” ที่โรงแรมลายทอง จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีพร้อมปาฐกถาพิเศษ “ทีมการศึกษา” เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อแวดวงการศึกษาและสังคม จึงขอเปิดพื้นที่เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน
“โอกาส–ลดเหลื่อมล้ำ–คุณภาพ” หัวใจปฏิรูป
“เมื่อดูจาก VTR การจัดตั้งโรงเรียนไทยรัฐวิทยาแล้ว พบว่ามีคำ 3 คำที่สำคัญมากๆ และถ้าฟังดีๆจะเห็นว่าหัวใจของการปฏิรูปการศึกษาทั้งหมดอยู่ที่นี่ คำแรกคือ เรื่องของโอกาส ซึ่งบุคคลที่ยิ่งใหญ่ของโลกไม่ว่าจะเป็นพระพุทธเจ้า นักบุญ หรือใครอีกหลายคน สุดท้ายสิ่งที่บุคคลเหล่านั้นทิ้งไว้ให้คือการศึกษา ซึ่งนโยบายทั้งระดับกระทรวงหรือระดับประเทศสิ่งแรกที่ต้องทำคือ การเปิดโอกาสให้มนุษย์ให้มากที่สุด โดย เฉพาะเด็กๆ และคำต่อมาซึ่งมีการเรียงลำดับได้อย่างถูกต้องคือ เรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำ และสุดท้ายคือ เรื่องของคุณภาพ หลายคนเวลาไปดูการศึกษาต่างประเทศและกลับมาพูดถึงฟินแลนด์และสิงคโปร์ ถ้าไปดูผิวเผินแล้วกลับมาพูดว่าฟินแลนด์ทำอย่างนั้น สิงคโปร์ทำอย่างนี้ แล้วทำไมประเทศไทยไม่ทำอย่างนั้น อย่างนี้บ้าง ยกตัวอย่าง ฟินแลนด์ไม่มีหลักสูตรกลางของรัฐให้ครูสร้างเอาเอง เด็กไม่ต้องแต่งชุดนักเรียน ไม่ต้องไปโรงเรียนก็ได้ ให้กลับมาเรียนที่บ้าน ไม่มีประเมิน ไม่มีอะไรทั้งสิ้น ลองทำแบบนี้ในเมืองไทยดูสิแล้วจะรู้ว่าหายนะอยู่ที่ไหน เมืองไทยทำไม่ได้”
ชื่นชมไทยรัฐวิทยาเดินมาถูกทาง
“…ผมได้คุยกับผู้เชี่ยวชาญของฟินแลนด์และผู้เชี่ยวชาญระดับโลก เขาบอกว่าเวลาไปดูงาน ประเทศเหล่านี้และเห็นว่าผลการจัดการศึกษาออกมาดี ต้องตั้งคำถามว่าเมื่อ 10-15 ปีที่แล้วเขาทำอะไร ไม่ใช่ตอนนี้ทำอะไร เพราะ สิ่งที่เรากำลังทำจะไม่ออกดอกออกผลตอนนี้ แต่จะออกดอกออกผลในอีก 10 ปีข้างหน้าเป็นอย่างน้อย สิ่งที่ฟินแลนด์บอกตอนเริ่มต้นปฏิรูปการศึกษา เมื่อ 15 ปีที่แล้วสิ่งที่ฟินแลนด์ทำคือ การลดความเหลื่อมล้ำเช่นเดียวกับสิงคโปร์ เวลาเราปฏิรูปมักมองแต่สังคมคนมี สังคมคนเมือง สังคมนักวิชาการ แต่ลึกๆต้องเริ่มจากคนยากจนก่อนเพื่อให้ความเหลื่อมล้ำลดลง เมื่อคนลืมตาอ้าปากได้ไม่ต้องปากกัดตีนถีบ จากนั้นถึงจะมาพูดถึงเรื่องของคุณภาพ แต่ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าจะแยกกันโดยสิ้นเชิงสามารถที่จะพัฒนาไปพร้อมๆกันได้ แต่ต้องมีจุดเน้น ต้องขอชมเชยทางไทยรัฐที่มีความเข้าใจ และผมมองว่าเดินมาถูกทางแล้ว และจะเป็นตัวอย่างที่สำคัญ”
ชี้คนไทยต้อง “สำเหนียก”
“…วันนี้จะขอมาเล่าให้ฟังถึงปัญหาการศึกษาที่หนักที่สุด เป็นการเข้าร่วมโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Programme for International Student Assessment) หรือ PISA ของประเทศไทย ดำเนินการโดย Organisation for Economic Cooperation and Development หรือ OECD เมื่อปี ค.ศ.2000 ตรงกับการคิกออฟปฏิรูปการศึกษาบ้านเราพอดี PISA เป็นเหมือนปรอทวัดอุณหภูมิการศึกษาที่ใช้ได้เลยทีเดียว ซึ่งประเทศไทยคะแนนก็ขึ้นๆลงๆตามสภาพ ปีล่าสุดคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 420 คะแนน ขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วของ OECD อยู่ที่ 500 คะแนน ผมได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์ พบว่าทุกๆ 30 คะแนนเทียบได้กับความเหลื่อมล้ำที่ห่างไกลกัน 1 ปีการศึกษา เราห่างจาก OECD 80 คะแนนก็เกือบ 3 ปีการศึกษา สิงคโปร์ 560 คะแนน ความสามารถของเด็กสิงคโปร์ห่างจากเด็กไทยเกือบ 5 ปีการศึกษา อย่างไรก็ตาม เด็กเก่งของไทยร้อยละ 10 ได้คะแนน 550 ติดระดับโลก ขณะที่เด็กอ่อนที่สุดร้อยละ 10 ได้ 350 หรือต่ำกว่า คงเส้นคงวาตั้งแต่เข้าร่วม PISA ปี 2000 จนถึง 2015 บ่งบอกว่าความเหลื่อมล้ำไม่ได้ลดลง และถ้าเรายังเน้นเด็กเก่ง 10% ข้างบนทำอย่างไรก็ฉุดไม่ขึ้นเพราะติดเพดานแล้ว หน้าที่ของเราคือทำอย่างไรให้ข้างล่างขึ้นมา เพื่อให้คะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ในประเทศเราห่างกันเองกว่า 200 คะแนน คิดเป็น 7 ปีการ ศึกษา มากกว่าเราห่างจากสิงคโปร์อีก เป็นปรากฏการณ์ที่เราต้องสำเหนียกไว้… เรื่องความอยากเรียนหนังสือ การใฝ่ฝันอยากทำให้สำเร็จเราแพ้เวียดนาม เด็กยากจนของเขาอยากเรียน ตลอดเวลาเกิดอะไรขึ้นผมก็ตอบไม่ได้ แต่ต้องคิดแล้วว่า การปฏิรูปการศึกษาในเที่ยวนี้ทำอย่างไรอยากให้เด็กอยากเรียนหนังสือและใฝ่รู้ตลอด”
โชว์ผลงานความคืบหน้า ศธ.
“…สำหรับความคืบหน้าการปฏิรูปการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการมา อาทิ การจัดการศึกษาปฐมวัย เพิ่มวิชาภูมิศาสตร์และไอซีที การสอบอัตนัยวิชาภาษาไทย การปรับปรุงมาตรฐานตำราและระบบการใช้หนังสือยืมเรียน การพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ภาษาจีน โรงเรียนแม่เหล็ก โรงเรียนคุณธรรม การศึกษาทางไกลร่วมกับมูลนิธิทางไกลผ่านดาวเทียม การแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัย การปรับระบบแอดมิชชั่นแนวใหม่ที่แก้ปัญหาการวิ่งรอกสอบของเด็ก การแก้ไขกฎกระทรวงเกี่ยวกับเกณฑ์การประกันคุณภาพสถานศึกษา การเปลี่ยนโรงงานให้เป็นโรงเรียน และการเปลี่ยนเกณฑ์ การคัดผู้บริหารระดับสูง และการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันที่เอาจริงในยุคนี้ อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปการศึกษา ผมมองว่าสิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่โครงการต่างๆที่ทำ แต่เป็นทิศทางที่ต้องเดินไปในทางที่ถูก เพราะรัฐบาลอยู่อีกเพียงปีกว่า สิ่งสำคัญที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำคือ ตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ที่มี ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธาน มีคณะกรรมการที่คนชมว่าหน้าตาดีเพราะพิถีพิถันในการเลือก”
เกณฑ์วิทยฐานะใหม่ ผลงานชิ้นโบแดง
“…สิ่งที่ผมภูมิใจว่าทำสำเร็จแล้วคือการพัฒนาครูทั้งระบบ เรื่องนี้ผมขนลุกทุกครั้งที่พูด พระบาทสมเด็จพระ ปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช ทรงมีพระ ราชหัตถเลขาถึงคณะองคมนตรี เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2555 และส่งไปยังรัฐบาล ใจความว่า“ปัญหาปัจจุบันคือ ครูมุ่งเขียนงานวิทยานิพนธ์ เขียนตำราส่งผู้บริหารเพื่อให้ได้ตำแหน่งและเงินเดือนสูงขึ้นแล้วบางทีก็ย้ายไปที่ใหม่ ส่วนครูที่มุ่งการสอนหนังสือกลับไม่ได้อะไรตอบแทน ระบบไม่ยุติธรรม เราต้องเปลี่ยนระเบียบตรงจุดนี้ การสอนหนังสือต้องถือว่าเป็นความดีความชอบ หากคนใดสอนดี ซึ่งส่วนมากคือมีคุณภาพและปริมาณ ต้องมี reward” ปกติพระบรมราโชวาทจะพูดภาพกว้างของการศึกษา เรื่องนี้ลงลึกรายละเอียดแต่ที่ผ่านมาไม่มีใครแก้ไข เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ได้มีการประกาศใช้หลักเกณฑ์การขอมีและเลื่อนวิทยฐานะรูปแบบใหม่ ด้วยพระบารมีของพระองค์ทำให้ผมทำเรื่องนี้ ได้สำเร็จ โดยไม่มีการต่อต้าน เรื่องวิทยฐานะได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง มีการเชื่อมโยงกับการพัฒนาตนเอง ของครู โดยมีสถาบันคุรุพัฒนาเป็นผู้ให้การอบรม ซึ่งผมให้งบประมาณครู 10,000 บาทต่อคน ในการเลือกหลักสูตรที่จะอบรมเอง และ งบเหลือจ่ายของกระทรวงศึกษาธิการ 2,000 ล้านบาท ในปีนี้ผมคืนให้ครูเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาตนเอง”
วางกลไกสกัดการเมืองทำลายปฏิรูป
“…ส่วนการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ขณะนี้สังคมและคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษากำลังเฝ้ามองดู ถ้าทำแล้วไม่สำเร็จ ทำออกมาเละหรือแตกแยกก็จะถูกยุบไปเอง นายกฯสั่งแล้วว่าให้ไปคิดเรื่องโครงสร้างมาก่อนเพื่อจะได้ทำให้เสร็จภายในปีนี้ จากเดิมที่ให้คิดเป็นเรื่องสุดท้าย…และท้ายที่สุดผมคิดว่า การปฏิรูปล้มเหลวเพราะเรามักมีแต่คำสั่ง โครงการ แต่ไม่มีทิศทางที่ชัดเจน ที่จะเห็นภาพว่าจะเกิดอะไรขึ้นไกลๆ และหากการเมืองยังเป็นอย่างนี้ ตั้งแต่ปฏิรูปการศึกษาเมื่อปี 2543 จนถึงปี 2560 รวม 17 ปี กระทรวงศึกษาธิการมีรัฐมนตรี 20 คน บางปีเปลี่ยน 4 คน เฉลี่ยแล้วคนละ 11 เดือน นักการเมืองบางคนมีความคิดดีๆยังไม่ทันจะเริ่มก็หมดเวลา คนที่คิดไม่ดีก็เข้ามาพร้อมโครงการจะซื้อโน่น ซื้อนี่ เพราะรู้ตัวว่าอยู่ไม่นาน ตราบใดที่การปฏิรูปการศึกษาครั้งใหม่ไม่เอาการศึกษาออกจากวงจรการเมือง ไม่ให้นักเลือกตั้งเข้ามาทำลายสิ่งที่วางไว้ เราต้องวางกลไกไม่ให้การเมืองเข้ามาวุ่นวายกับเรื่องหลักๆของการศึกษา ไม่เช่นนั้นประเทศจะถอยหลังกลับไปเหมือนเดิม”.