เมื่อวันพุธที่ 26 กรกฎาคม 2560 เวลา 8.00 น. ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงานศาสตร์พระราชา ทรงคุณค่าภาษาไทย และบรรยายพิเศษ เรื่อง “ศาสตร์พระราชา” แก่คณาจารย์ และนักเรียน ณ โรงเรียนหอวัง เขตจตุจักร จากนั้นในช่วงบ่ายได้เดินทางไปเป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยมไทยภายใต้แนวคิด “ศาสตร์พระราชา” และมอบโล่ เกียรติบัตรแก่ผู้ชนะการประกวด ณ หอประชุมคชาธาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม
● ภารกิจที่
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวว่า ตลอดเวลาที่รับราชการมา 37 ปี ได้ผ่านประสบการณ์ มีผู้ใหญ่ที่ช่วยอบรมสั่งสอนมาจำนวนมาก ซึ่งล้วนเป็นต้นแบบที่ดี จึงต้องการให้ลูกหลานนักเรียนนักศึกษาทุกคนหาต้นแบบที่ยั่งยืนเป็นของตนเอง และมีความเคารพสำนึกในพระคุณอันใหญ่หลวงของครู อาจารย์ ทั้งยังขอเน้นย้ำในเรื่องของการใช้ภาษาไทย ขอให้ใช้ภาษาไทยอย่างสละสลวย สะกดให้ถูกต้อง พูดให้ฉะฉาน ชัดเจน
ขอเน้นย้ำ 5 เรื่องที่สำคัญในการขับเคลื่อนโรงเรียนคุณธรรม คือ 1) ความพอเพียง 2) ความกตัญญู 3) ความซื่อสัตย์สุจริต 4) ความรับผิดชอบ 5) อุดมการณ์คุณธรรมจริยธรรม รวมทั้งขอให้ช่วยกันขับเคลื่อนโรงเรียนคุณธรรม เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9
● ภารกิจที่
ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมไทย (Morals Ethics and Core Values of Thailand Contest: ME Thai Contest 2017) ภายใต้แนวคิด “ศาสตร์พระราชา” พร้อมทั้งมอบโล่เกียรติบัตรแก่ผู้ชนะการประกวด ณ หอประชุมคชาธาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม โดยมีผู้บริหาร คณบดี คณาจารย์ นักศึกษา
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวว่า โครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมไทย เป็นโครงการที่สอดคล้องกับโครงการโรงเรียนคุณธรรมของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้ดำเนินการถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 จึงขอแสดงความชื่นชมและยินดีกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ รวมทั้งสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานที่ร่วมจัดงาน ตลอดจนผู้ได้รับรางวัลและผู้ที่ส่งผลงานเข้าประกวดแม้ว่าจะไม่ได้รับรางวัลด้วย เนื่องจากทุกท่านได้แสดงการน้อมรำลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วยความจงรักภักดี
จังหวัดนครปฐม เป็นจังหวัดที่มีสถานศึกษาจำนวนมาก อาทิ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของพุทธมณฑลซึ่งเป็นสถานที่สำคัญทางศาสนา ทำให้จังหวัดนครปฐมเป็นจังหวัดที่มีความเจริญทั้งทางด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการศึกษา โครงการนี้จึงเป็นการน้อมนำแนวพระราชดำริและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับนิสิตนักศึกษาในทุก ๆ ด้าน
โอกาสนี้ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ได้มอบโล่เกียรติบัตรแก่ผู้ชนะการประกวด จำนวน 4 รางวัล คือ
-
รางวัลต้นแบบ Popular Vote ชนะเลิศ ได้แก่ ทีมสตรีพอเพียง จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี
-
Popular Vote การประกวดสื่อดิจิทัล ชนะเลิศ ได้แก่ ทีม The Final Card X จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี
-
รางวัลต้นแบบ Best of the Best ชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Gen A จิตอาสาตามรอยศาสตร์พระราชา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี
-
Best of the Best การประกวดสื่อดิจิทัล ชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Serafim จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
อนึ่ง โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจากความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ และความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พระผู้ทรงเป็นศูนย์รวมใจของพสกนิกรชาวไทย และทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นปรัชญาที่นำไปสู่ความสงบสุข และความเจริญก้าวหน้าในการประกอบกิจต่าง ๆ ตลอดจนตระหนักในคุณค่าของการดำรงชีวิตตามวิถีและค่านิยมไทยที่ยึดหลักคุณธรรมและจริยธรรมเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจัดโครงการภายใต้แนวคิด “ศาสตร์พระราชา” โดยได้ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ และหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ มหาวิทยาลัยศรีปทุม, วิทยาลัยกองทัพบก, มหาวิทยาลัยราชพฤกษ์, มหาวิทยาลัยธนบุรี, สมาคมสถานการณ์จำลองและเกมเพื่อการเรียนรู้แห่งประเทศไทย, มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา, สมาคมอีเลิร์นนิงแห่งประเทศไทย (e-Learning Association of Thailand) และสำนักงานวิจัยและพัฒนาทางทหาร กองทัพบก
โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ ตามโครงการ ประกอบด้วยการจัดนิทรรศการและเวทีย่อยเกี่ยวกับองค์ความรู้ด้านสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม, การจัดประกวดโครงการต้นแบบและสื่อดิจิตอล ภายใต้แนวคิดศาสตร์พระราชา และภายใต้หัวข้อศาสตร์ของพระราชาและเศรษฐกิจพอเพียง, การเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยการจัดการแข่งขันแบ่งเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ระดับต่ำกว่าอุดมศึกษา และระดับอุดมศึกษาและบุคคลทั่วไป