สกศ.จัดประชุม
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม เรื่อง “แนวทางการนำแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 สู่การปฏิบัติการตามภารกิจของหน่วยงาน” เมื่อวันพุธที่ 26 กรกฎาคม 2560 ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร อาคาร 56 ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา โดยมีนายกมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา พร้อมด้วยผู้แทนจาก 11 กระทรวง และ 53 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม
นายกมล รอดคล้าย กล่าวว่า หลังจากที่แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 ได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2560 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้นำแผนดังกล่าวไปชี้แจงในภูมิภาคต่าง ๆ ใน 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต ระยอง มหาสารคาม และเชียงราย รวมทั้งการประชุมในครั้งนี้เป็นห้วงสุดท้ายของการชี้แจงแผนดังกล่าว ก่อนที่จะนำแผนไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานในห้วงต่อไป
แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 มีวิสัยทัศน์คือ “คนไทยทุกคนได้รับการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ดำรงชีวิตอย่างเป็นสุข สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21” ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ เป้าหมาย และตัวชี้วัด ดังนี้
โดยมีแนวทางการขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติสู่การปฏิบัติ คือ 1) สร้างความรู้ความเข้าใจให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงความสำคัญและพร้อมเข้าร่วมผลักดันแผนการศึกษาแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติ 2) สร้างความเชื่อมโยงระหว่างแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 ยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายรัฐบาล แผนพัฒนาการศึกษาระยะ 5 ปี แผนปฏิบัติราชการระยะ 4 ปี และแผนปฏิบัติการประจำปีของหน่วยงานและองค์กร 3) ปรับปรุงกฎหมาย กฎ และระเบียบต่าง ๆ ให้เอื้อต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาในระยะต่าง ๆ 4) สร้างช่องทางให้ประชาสังคมมีโอกาสแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอย่างกว้างขวาง ทั้งระดับนโยบายและพื้นที่
จากวิสัยทัศน์ เป้าหมาย และแนวทางการขับเคลื่อนแผนดังกล่าว ได้มีการกำหนดรายละเอียดอย่างชัดเจนว่าแต่ละหน่วยงานจะรับผิดชอบเป้าหมายและตัวชี้วัดใดบ้าง อาทิ เป้าหมายที่จะทำให้ประชากรอายุ 3-14 ปี ได้รับการศึกษาภาคบังคับทุกคน 100 เปอร์เซ็นต์ ได้มีการกำหนดสัดส่วนร้อยละของสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), กรุงเทพมหานคร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ว่าแต่ละสังกัดมีจำนวนสัดส่วนเท่าไรในการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งที่ประชุมจะได้หารือเกี่ยวกับบริบทของแต่ละหน่วยงานในมิติต่าง ๆ ต่อไป เพื่อให้เกิดความสำเร็จจากการร่วมมือกันของทุกหน่วยงาน
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวว่า จากการที่ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานศึกษาทั้งในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ในต่างจังหวัด ทำให้ทราบว่าแต่ละโรงเรียนมีบริบทที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ สื่อการเรียนการสอน การขาดครูในสาขาต่าง ๆ เป็นต้น การประชุมในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสดีที่ผู้แทนจากกระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ จะได้รับทราบข้อมูลเพื่อนำไปประกอบการจัดทำแผนการศึกษาให้สอดคล้องกันในทุกระดับ
จึงขอความร่วมมือจากหน่วยงานและกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องช่วยกันขบคิดเกี่ยวกับกรอบทิศทางการพัฒนาการศึกษาของไทยให้ชัดเจน โดยขอให้ดำเนินควบคู่ไปกับการดำเนินงานของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา และคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดของแต่ละจังหวัด เพื่อทำให้เกิดการบูรณาการร่วมกัน โดยขอให้ทุกหน่วยงานให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือ และสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ด้วยการขยายผลและมอบหมายเจ้าหน้าที่ที่เหมาะสมในการนำแผนสู่การปฏิบัติให้เกิดความชัดเจน ทั้งการกำหนดหน้าที่ในภาพรวมจากส่วนกลางไปสู่ระดับภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น เพื่อพัฒนาแผนการศึกษาของแต่ละพื้นที่ให้มีความก้าวหน้าและสอดคล้องตามแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579 และเพื่อประโยชน์ในการลงรายละเอียดข้อมูลเชิงลึกของแต่ละบริบทด้วย
ทั้งนี้ ขอให้คำนึงถึงบริบทการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกประเทศด้วย อาทิ ความเสื่อมถอยทางวัฒนธรรมและความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม, โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัย, ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ, การขยายตัวทางเศรษฐกิจโลก, การแข่งขันในตลาดการค้าโลก เป็นต้น
สุดท้ายนี้ ขอให้ตั้งเป้าหมายและตัวชี้วัดความสำเร็จเพื่อทำให้แผนลุล่วงไปด้วยดี โดยขอให้นำโครงการโรงเรียนคุณธรรมเป็นโจทย์ในการพัฒนาการศึกษาของชาติ พร้อมทั้งขยายผลสู่ความสำเร็จต่อไป นอกจากนี้ ยังคาดหวังให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นต้นแบบกระทรวงคุณธรรม สอดคล้องกับชื่อเดิมคือ กระทรวงธรรมการ ที่มีตราเสมา เป็นสัญลักษณ์ของกระทรวง
ความเห็นเพิ่มเติมจากที่ประชุม ผู้แทนจากกระทรวงวัฒนธรรม “กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งจัดการศึกษาให้กับโรงเรียนเฉพาะทางประเภทต่าง ๆ มีความพร้อมในการรองรับแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 และยินดีที่จะผลักดันสถานศึกษาในสังกัดเข้าร่วมโครงการโรงเรียนคุณธรรม โดยจะส่งผู้แทนเข้าร่วมอบรมเกี่ยวกับโครงการโรงเรียนคุณธรรมร่วมกับสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอส.) ต่อไป” ผู้แทนจากสภาหอการค้าไทย “การวิจัยที่ทางสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันอาชีวศึกษาดำเนินการ ควรเป็นการวิจัยที่สามารถนำไปใช้ได้จริง โดยคาดหวังให้สถาบันอุดมศึกษาและสถาบันอาชีวศึกษาจับมือกับผู้ประกอบการ เพื่อกำหนดหัวข้อการวิจัยที่นำไปใช้ได้จริง และทำให้การวิจัยนั้นมีมูลค่าด้วย” สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร “ได้จัดทำยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาสอดคล้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579 ของกระทรวงศึกษาธิการ อาทิ การจัดการเรียนการสอนด้าน STEM Education, การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ ตลอดจนส่งเสริมโครงการโรงเรียนคุณธรรมในโรงเรียน 437 แห่ง ในขณะเดียวกันก็พบว่ายังมีรายละเอียดบางประการที่ยังไม่ได้กำหนดลงไปในแผนการศึกษาของกรุงเทพมหานครในขณะนี้ โดยจะเร่งดำเนินการเพิ่มข้อมูลดังกล่าวในครบถ้วนสมบูรณ์ในแผนการศึกษาในปีต่อ ๆ ไป” ผู้แทนสถานศึกษาในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) “สถานศึกษาในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 7,000 แห่ง มีนักเรียนในความรับผิดชอบประมาณ 700,000 คน แม้ว่าสถานศึกษาในสังกัด อปท. ยังประสบปัญหาต่าง ๆ เช่น การบริหารจัดการด้านงบประมาณและบุคลากร แต่ก็มีความพร้อมที่จะให้ความร่วมมือจัดการศึกษาควบคู่กับกระทรวงศึกษาธิการ และมีความประสงค์ที่จะขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณธรรมไปพร้อม ๆ กัน” สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ “มีโรงเรียนพระปริยัติธรรม จำนวน 409 แห่ง ซึ่งเป็นสถานศึกษาที่มีคุณภาพ แต่ยังขาดการประชาสัมพันธ์ให้สังคมได้รับทราบ อย่างไรก็ตาม โรงเรียนพระปริยัติธรรมก็มีความพร้อมในการให้ความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ อีกทั้งมีความพร้อมที่จะนำยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ข้อ ไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง” |