หากถามว่าพฤติกรรมแบบไหนที่แสดงออกถึงการเรียกร้องความสนใจมากเกินไป? มีหลายพฤติกรรม อาทิเช่น อาละวาด พฤติกรรมถดถอย งอแงติดแม่ ขว้างปาสิ่งของฯลฯ แต่หากจะบอกชี้ชัดลงไปเลยสำหรับเด็กบางคนก็อาจจะไม่ใช่ เพราะเด็กแต่ละคนมีทักษะในการแสดงออกทางด้านอารมณ์ที่ต่างกันขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู…หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิมในทางลบ ต้องหาสาเหตุและวิธีแก้ไข มาดู 10 พฤติกรรมเรียกร้องความสนใจสุดฮิตกันค่ะ
- พฤติกรรมถดถอยเพราะมีน้องใหม่ จากที่เคยทำอะไรเองได้ก็ทำไม่ได้ ต้องให้คุณแม่ทำให้ สาเหตุเพราะแม่มีน้องใหม่เพิ่มมาอีกคน ถ้าเป็นเพราะเหตุนี้ คุณแม่และคนในครอบครัวต้องแสดงให้เด็กรับรู้ว่าทุกคนยังรักเขาเหมือนเดิม เขายังเป็นคนสำคัญ ซึ่งควรบอกให้ลูกรู้ตั้งแต่น้องอยู่ในท้องว่าเขาเป็นพี่แล้วนะ ให้เขารู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นพี่ เวลาที่ญาติมาเยี่ยมแล้วจะซื้อของมาฝากน้อง บอกกับญาติๆ ว่าซื้อของมา 2 ชิ้นฝากพี่ด้วย และควรให้ลูกมีส่วนร่วมในการดูแลน้อง
- งอแงติดแม่… สาเหตุเพราะคุณแม่ต้องไปทำงานต่างจังหวัดหลายวัน หรือสาเหตุใดๆ ก็ตามที่ทำให้แม่ไม่อยู่บ้านพอกลับมาบ้านเด็กจึงติดแจเป็นปาท่องโก๋ ตามไปทุกที่แม้กระทั่งเข้าห้องน้ำ กลัวว่าคุณแม่จะหายตัวไปอีก ถ้าเป็นอย่างนี้คุณแม่ต้องพูดคุย เพื่อให้เด็กเข้าใจตั้งแต่ต้นว่าแม่จะไปทำงาน และจะกลับมาหาลูก อาจนำปฏิทินมาจดูว่าคุณแม่จะกลับมาวันไหน วันที่คุณแม่ไม่อยู่ก็ต้องโทรมาหาลูกทุกวัน ต้องใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์
- วีนแตกเพราะแยกห้องนอน เพราะเขาเคยนอนกับคุณพ่อคุณแม่มาตลอด จู่ๆ ถูกจับแยกห้อง จึงเกิดอาการไม่ชอบใจ กลายเป็นเด็กขาวีน ดังนั้นการจะให้ลูกแยกห้องนอน หรือเรื่องใดๆ ก็ตามที่เป็นเรื่องใหม่สำหรับเขา คุณแม่คงต้องมีเวลาให้ลูกได้ทำใจ และปรับตัวด้วยการพูดคุยและอธิบายเหตุผลให้เขาฟัง
- สูญเสียของรัก…ซึม ไม่พูดกับใคร การพลัดพราก หรือสูญเสียของรัก เช่น ของเล่นชิ้นโปรดหาย น้องหมาตาย หรือต้องย้ายโรงเรียน ย่อมเกิดขึ้นได้กับเด็กๆ เมื่อเกิดกรณีนี้ขึ้นกับหนูๆ วัย 3-6 ขวบ นอกจากการอธิบายให้ลูกเข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน รวมไปถึงการพาลูกไปเที่ยวหรือทำกิจกรรมต่างๆ ก็ช่วยได้
- ว๊ากกก ขว้างปาสิ่งของ หากลูกขว้างปาสิ่งของ ไม่ว่าจะเรียกร้องความสนใจเพราะเหตุใดก็ตาม คุณแม่ต้องทำเป็นไม่สนใจต่อพฤติกรรมนี้ รอให้เขาสงบแล้วคอยพูดคุยอธิบายกันด้วยเหตุด้วยผล
- ประท้วง ไม่กินข้าว คุณแม่หลายคนพอลูกไม่กินข้าว จะเกิดอาการตกใจกลัวว่าลูกจะขาดสารอาหาร เลยตามใจทุกอย่างจนลูกยิ่งเอาแต่ใจ หากลูกประท้วงไม่ยอมกินข้าวแบบไม่มีเหตุผล ก็อย่าเพิ่งตามใจลูกทุกอย่าง แต่ถ้ากลัวลูกจะขาดสารอาหารอาจหาอะไรที่กินง่ายๆ เช่น นมกล่องสำหรับเด็กที่มีสารอาหารครบถ้วนวางไว้ที่โต๊ะอาหาร เมื่อถึงเวลาลูกหิวจะมาหยิบกินเอง
- ปัสสาวะใส่กางเกง วัย 3 ขวบต้นๆ จากที่ปวดปัสสาวะแล้วบอกให้แม่พาเข้าห้องน้ำ หรือไปเข้าห้องน้ำเองได้แล้วแต่ลูกกลับปัสสาวะใส่กางเกงโดยไม่บอก เป็นไปได้ว่าในใจของเด็ก คงมีเรื่องให้คิดหรือเครียดอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง คุณแม่ต้องหาสาเหตแล้วค่อยๆ พูดคุยกับลูก
- ไม่ไปโรงเรียนเพราะไม่มีเพื่อน ไม่อยากไปโรงเรียน เกิดได้จากหลายสาเหตุค่ะหากคุณแม่พบว่าสาเหตุของการไม่ไปโรงเรียนของลูกเกิดจากเพื่อนรักที่สนิทกันมากๆ ย้ายโรงเรียน แบบนี้ต้องไปปรึกษาคุณครูเพื่อหาบัดดี้ใหม่ให้ลูก หรือให้ลูกมีเพื่อนเป็นกลุ่ม การชวนเพื่อนสนิทของลูกมาเที่ยวบ้านในวันหยุดก็จะช่วยให้อาการดีขึ้นได้
- ไม่ยอมนอน หากลูกมีอาการนอนไม่หลับ หรือกว่าจะนอนก็ค่ำมืด เป็นไปได้ว่าลูกมีความกังวล หรือเกิดความเครียดเล็กๆ ในเบื้องต้นคุณแม่ลองสร้างบรรยากาศในบ้านให้เงียบสงบ ผ่อนคลาย ไม่รบกวนการนอนของลูก เล่าเรื่องราวต่างๆ หรือชวนลูกอ่านหนังสือนิทานก่อนนอน
- ทำร้ายร่างกาย…เด็กแต่ละคนแสดงออกถึงอาการที่อยากให้พ่อแม่มาสนใจแตกต่างกันไป เช่น ทำร้ายร่างกายตัวเอง ด้วยการตีอกชกตัว หรือทุบตีพ่อแม่หรือเพื่อนในห้อง ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ก่อนอื่นคุณแม่ต้องกอดลูกไว้ก่อน พอลูกอารมณ์เย็นลง ค่อยๆ อธิบายเหตุผล ว่าทำไมไม่ควรทำแบบนี้ หาสาเหตุที่ลูกเรียกร้องความสนใจแล้วแก้ไขเพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้น
พฤติกรรมต่างๆ ที่เด็กแสดงออก สามารถปรับเปลี่ยนได้ด้วยความเข้าใจจากพ่อแม่ ด้วยการแก้ไขที่รวดเร็วและถูกต้อง เมื่อลูกปรับเปลี่ยนได้ อย่าลืมให้กำลังใจด้วยการชื่นชม