ไม่มีทางที่ลูกจะ “ฟัง” กติกาของพ่อแม่ หากพ่อแม่ไม่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกมาก่อน

และถ้าสัมพันธ์ภาพดี แต่พ่อแม่ไม่จัดการให้กติกาเกิดขึ้นจริงจัง ลูกก็จะควบคุมตนเองเพื่อเติบโตเป็นคนดีและเก่งไม่ได้

“เลี้ยงลูกเชิงบวก” ต้องพัฒนาทั้งสัมพันธภาพเชิงบวกและกติกาเชิงบวก

1. สัมพันธภาพเชิงบวก ไม่ใช่แค่ลูกมีรอยยิ้ม หรือพาไปเที่ยวให้สนุกสนาน แต่มีความหมายลึกไปถึงความผูกพันทางอารมณ์ (emotional connection)*ลูกรู้สึกได้ว่าพ่อแม่มีตัวตน และเขาเองก็มีตัวตน เชื่อมโยงและผูกพันกันแม้จะไม่เห็นหน้ากัน (ความรู้สึกนี้ยาวนานไปตลอดชีวิตของลูกได้)
– พ่อแม่มีตัวตน หมายถึง ลูกรับรู้ได้ว่าพ่อแม่เป็นคนที่มี “ความคิด น่าเคารพ ใจกว้าง เมตตา” อยู่ด้วยแล้วอบอุ่นปลอดภัย
– ลูกมีตัวตน หมายความว่า ลูกได้ “พัฒนาตนเอง พ่อแม่เข้าใจและชื่นชอบเขาในแบบของเขา” (ไม่ต้องเหมือนใคร)ซึ่งความผูกพันทางแบบนี้ ไม่ใช่การพาเที่ยว หรือพาไปเรียนในที่ต่างๆ

*ความผูกพันทางอารมณ์ที่ลึกซึ้งแบบนี้ ต้องอาศัย

– “เวลาที่นานพอ” ที่จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

– “ความใส่ใจ” ซึ่งจะมีได้ เราก็ต้อง “ตั้งใจ” สนใจลูกจริงๆจังๆ ขับรถไปคุยไปอาจไม่สามารถใส่ใจได้มากพอ

– “แนวคิดเชิงบวกและทักษะการสื่อสาร” ซึ่งพ่อแม่ต้องมั่นหาข้อมูล และเอาความรู้ที่อ่านมาประยุกต์ใช้ด้วย

.

2. กติกาและวินัยเชิงบวก

ไม่ใช่แค่การพูดดีๆ พูดหวานๆเท่านั้น แต่มากกว่านั้นคือ การรู้ว่าจะพูดอย่างไรให้ลูกคิดเป็น และเด็ดขาดจริงจัง (แบบไม่ใช้อารมณ์) เมื่อไร

รวมทั้งหากจะลงโทษเชิงบวกเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ จะทำอย่างไร เพื่อทดแทนการดุ ตี และขู่เพราะสร้างความกลัวและอาจกระทบกับความรู้สึกนับถือตนเองต่อไปได้

*ทักษะการสื่อสารที่เราได้เชื่อมโยงกับลูกมากพอในช่วงสัมพันธภาพเชิงบวก จะทำให้การคุยกติการาบลื่นขึ้นมาก

เพราะพ่อแม่เองก็ได้พัฒนาตนเองมาแล้ว ในช่วงเวลาชื่นมื่น ไม่ใช่ในช่วงเวลาบีบคั้น

และลูกเองก็เคยชินกับการฟังพ่อแม่และขบคิดด้วยกันแบบมีความสุขมาก่อนแล้วเช่นกัน

————————–
ประสบการณ์ของหมอ พบว่า พ่อแม่ที่ไม่มีทักษะการสื่อสารในช่วงสัมพันธภาพเชิงบวก จะเผลอเน้นเล่นมากกว่าเน้นสื่อสาร และชีวิตประจำวันก็ไม่ค่อยสื่อสารกัน

ครั้นได้เวลากติกา พ่อแม่กลุ่มนี้ก็มักจะเกิดปัญหาการคุยแบบพาลูกร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ กลายเป็น คุยกันเมื่อไรก็ขัดแย้งกัน ต่อรองกัน มากกว่าที่จะร่วมขบคิดกัน จนต้องทะเลาะกันในที่สุด

*ฝึกตนเองให้สื่อสารเป็นตั้งแต่ช่วงสร้างสัมพันธภาพเชิงบวก เพื่อให้เราคล่องแคล่วมากพอ

เมื่อมีกฎกติกา ลูกก็จะ “ฟัง” และร่วมคิดได้ เราก็จะ “ฟังลูกเป็น” จึงทำให้เกิดข้อตกลงง่ายขึ้นค่ะ

แพทย์หญิงเสาวภา พรจินดารักษ์