ถอดบทเรียน’บ้านพลัม ‘ยุทธการสอนเด็กเล็ก’ เน้นสื่อสร้างสรรค์-ครูสร้างสุข’

\'ยุทธการสอนเด็กเล็ก\' เน้นสื่อสร้างสรรค์ครูสร้างสุข thaihealth

“ในวัยเด็กเราต้องการความรักความอบอุ่นอย่างไร เด็กในสมัยนี้ ก็ต้องการไม่ต่างกัน ชีวิตของเด็กยุคปัจจุบัน พ่อแม่ฝากความหวังให้กับคุณครูในโรงเรียน เพราะเวลาในการดูแลลูกน้อยลง ทำให้หลายครอบครัวจำเป็นต้องนำลูกเข้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือโรงเรียนปฐมวัยตั้งแต่อายุ 2-3 ขวบ เพื่อทำงานหาเลี้ยงครอบครัว โดยเด็กนี้เป็นวัยที่เพิ่งเริ่มเรียนรู้สังคมภายนอก พวกเขาเพิ่งพรากจากอกแม่ พ่อ การยอมรับคนนอกไม่ใช่เรื่องง่าย งานครูในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จึงเป็นงานยิ่งใหญ่รองจากผู้ปกครอง โจทย์ใหญ่สำหรับแม่พิมพ์ของเด็กเล็ก คือ ทำอย่างไรให้จิตใจสงบนิ่ง  เป็นมิตรกับเด็ก ไม่ใช้โทสะ ไม่ใช้อารมณ์ ชั่ววูบทำโทษเด็กเกินกว่าเหตุ

ตลอดจนมีความมั่นคงทางวุฒิภาวะ สามารถแก้ปัญหา เฉพาะหน้าและทนต่อความไร้เดียงสาได้  การเป็นครูจึงเป็นความท้าทายในยุคที่ผู้ปกครองนิยมทำงานนอกบ้าน” เป็นความคิดเห็นส่วนหนึ่งของ  “สุภาพร พัฒนาศิริ” หรือ “ครูตุ้ง” กรรมการและเลขานุการมูลนิธิหมู่บ้านพลัม (ประเทศไทย) สถานปฏิบัติธรรมนานาชาติ  ที่มุ่งส่งเสริมการพัฒนาสมาธิ จิตใจ ของบุคคลทั่วไป เพื่อให้สามารถควบคุมสติให้มั่นคง

ระหว่างการอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “มหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็ก” ของครูในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) จำนวน 224 แห่งทั่วประเทศ โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ครูตุ้งเป็นหนึ่งในวิทยากรสาธิตกิจกรรมที่ช่วยควบคุมอารมณ์และสภาพจิตใจแก่ตัวแทนครู  เพื่อให้สามารถนำไปปฏิบัติในระหว่างทำหน้าที่แม่พิมพ์ของนักเรียนปฐมวัยได้

ที่ผ่านมาบ้านพลัม นำหลักการพัฒนาพลังงานทางใจ มาใช้บ่อยครั้งทั้งกับเด็กเล็ก วัยรุ่น รวมทั้งวัยผู้ใหญ่โดยหลักการที่ใช้บ่อย คือ การเจริญสติให้ใจเย็น มีความนิ่ง และรู้จักควบคุมอารมณ์ แม้ในยามร้อนใจ รู้สึกโกรธ เครียด ฯลฯ โดยทางมูลนิธิฯ ประยุกต์ดนตรี กิจกรรมสันทนาการต่างๆ มากมายให้เข้ากับยุคสมัยของคนไทยที่ปัจจุบันเต็มไปด้วยความเร่งรีบ และความกดดันทางสังคม รวมทั้งการปรับพื้นฐานอารมณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในที่สาธารณะ โดยกรณีของครูในศพด.นั้น เป็นการใช้ชีวิตของบุคคล 2 ประเภทที่แตกต่างทั้งวัย ทั้งภาวะอารมณ์ ประสบการณ์ชีวิต และอื่นๆอีกมากมาย การนำหลักการเจริญสติมาใช้ จึงจำเป็นมากสำหรับอาชีพนี้ ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี และเมื่อครูเรียนรู้แล้ว สามารถปรับใช้กับเด็กในความดูแลได้ด้วย”

“อาชีพครู ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ยิ่งเป็นครูในศูนย์เด็กเล็กด้วยแล้ว นอกจากจำนวนเด็กที่มีมากแล้ว ยังต้องเผชิญกับเด็กหลายประเภท บ้างก็งอแง บ้างไม่กล้าเล่นกับเพื่อน บ้างเป็นเด็กที่มีความระแวง บ้างติดบ้าน บ้างติดครู  สิ่งเหล่านี้มีปัจจัยมาจากหลายประเภท ทั้งพื้นฐานครอบครัว การส่งเสริมอาหารและโภชนาการ ฯลฯ  ทำให้เด็กจำแล้วนำมาใช้ในศูนย์ฯ ซึ่งพฤติกรรมต่างๆนั้น ครูสามารถละลายพฤติกรรมได้ แต่หากเกิดบ่อยๆ ครูเองอาจคุมอารมณ์ไม่อยู่ ดังนั้นจึงต้องฝึกความอดทน หากครูฝึกได้ ก็จะใช้ถ่ายทอดสู่เด็กได้” ครูตุ้ง อธิบาย

นอกจากปัญหาที่ครูตุ้งยกตัวอย่างแล้ว ระหว่างช่วงของการอบรม ครูผู้เข้าร่วมหลายท่าน สงสัยว่า กรณีเด็กโกหกและมีอารมณ์ก้าวร้าว ต้องจัดการอย่างไร หากครูเองก็เริ่มหมดความอดทน “ครูตุ้ง” เสนอคำตอบตรงไปตรงมาว่า แนะนำให้ครูแยกตัวไปพักสมองสักพักแล้วพอสบายใจขึ้นค่อยๆ ออกมาพบเด็กแล้วอธิบายเหตุผลของข้อเสียกับอารมณ์ก้าวร้าวแล้วพาไปทำกิจกรรมนอกห้องเรียน โดยแยกจากกลุ่มเพื่อนป้องกันปัญหาทะเลาะวิวาท โดยอาจมีการใช้เพลงเพื่อความเพลิดเพลิน แล้วอธิบายถึงข้อดีของความรักเพื่อน รักครู ให้แก่เด็ก ให้เขารู้ว่า ความรักและมิตรภาพเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม เช่น อาจเริ่มจากการแนะนำให้เขาเล่นของเล่นที่ต้องทำเป็นคู่ แต่ไม่ใช่ทำเป็นกลุ่ม ของเล่นที่ต้องการเพื่อนช่วย และของเล่นที่ต้องใช้ความคิด เช่น ตัวต่อรูปเรขาคณิต ตุ๊กตาหมอกับคนไข้ เป็นต้น แต่อย่าลืมว่าการทำกิจกรรมดังกล่าวต้องทำหลังครูใจเย็นลง

สำหรับปัญหาการดูแลเด็กที่สมาธิสั้น และติดเกมออนไลน์ ติดโทรทัศน์ แนะนำให้ครูห้ามนำสื่อเหล่านี้มาไว้ที่โรงเรียนเด็ดขาด แล้วพาเด็กไปอ่านหนังสือภาพ หรือศึกษาธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม นอกห้องเรียนแทน ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้พัฒนาสมาธิให้เด็กปฐมวัยได้ดี

“คือสิ่งที่ครูต้องจำ คือ พ่อแม่บางคนเลี้ยงลูกด้วยโทรทัศน์มากพอแล้ว ครูต้องนำเขาออกจากพฤติกรรมนั้น ครูบางคนติดละคร ก็มีบ้างเปิดละครช่วงสอนเด็ก เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเพราะครูโตแล้วแยกชั่วดีออก แต่เด็กเล็กแยกไม่ได้ โอกาสเลียนแบบทั้งผิด ถูกมีหมด ดังนั้นอย่าลืมว่าครูต้องปรับพฤติกรรมตนเองให้ดีด้วย” คุณครูย้ำในวิธีการ

แม้จะเป็นเวลาสั้นๆ ที่ครูตุ้งและอาสาสมัครคนอื่นจากมูลนิธิบ้านพลัม ได้ถ่ายทอดประสบการณ์การอบรมบุคลากรใน ศพด.ก็ตาม แต่สำหรับเพียงใจ พุฒแก้ว ครูจาก ศพด.บ้านระวิ ตำบลบางพระเหนือ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง แล้ว เป็นบทเรียนครั้งแรกหลังจากทำหน้าที่สอนเด็กเล็กมานานกว่า 20 ปี

แต่ละวัน “ครูเพียงใจ” ต้องรับผิดชอบเด็กประมาณ  40-45 คน อีกทั้งแต่ละปีจำนวนเด็กก็มีมากขึ้น จากเมื่อก่อนแค่ไม่ถึง  20 คน ก็เพิ่มมาเรื่อย แต่เธอไม่เคยถอดใจลาออก เพราะรักเด็กเหมือนลูก ครูสาวยอมรับว่า สภาพโรงเรียนในชนบทนั้นไม่อาจดูแลเด็กตามมาตรฐานของประเทศ คือ ครู 1 คนต่อเด็ก 20 คนได้ เพราะข้อจำกัดของการจัดจ้าง แต่ครูทั้ง 7 คน ก็ผลัดกันทำหน้าที่ดูแลเด็กแต่ละช่วงวัยอย่างเต็มที่ โดยในศูนย์ที่เธอรับผิดชอบนั้นมีเด็กอายุระหว่าง 2-5 ขวบ ที่มีนิสัยและอารมณ์ต่างกัน บางครั้งการวางกฎเกณฑ์ให้พวกเขาปฏิบัติตามเป็นเรื่องยาก ทำให้บางครั้งเธอก็ล้มเหลวในการสอน จึงตัดสินใจ สมัครเข้าร่วมอบรม แม้จะผ่านช่วงชีวิตการเป็นครูมานานกว่า 2 ทศวรรษก็ตาม

“เราเคยร้องไห้เช่นกัน และโกรธเด็กจนไม่รู้จะระบายที่ไหน จนมาวันนี้ ได้รับบทเรียนจากบ้านพลัมก็รู้สึกดีขึ้น มองเห็นทางออกมากขึ้น กิจกรรมของบ้านพลัมผ่อนคลาย และมีหลักการแก้ปัญหาที่แตกต่างออกไป บางช่วงของการฝึกสติรู้สึกโล่งสบาย ที่ประทับใจ คือ การใช้เพลงประกอบ ซึ่งหากกลับไปอาจจะหาซื้อเพลงที่ใช้กล่อมเด็ก เพลงสอนธรรมชาติมาใช้บ้าง อย่างน้อยก็ทำให้เด็กได้รับทั้งการเคลื่อนไหวร่างกาย กิจกรรมเข้าจังหวะ และการจดจำเนื้อหาของสิ่งแวดล้อมรอบตัว” ครูเพียงใจ ทิ้งท้าย

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า