ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ 

10 เทคนิคของการสร้างวินัยเชิงบวก thaihealth

แฟ้มภาพ

ทักษะที่จำเป็นของคนไทยในยุค 4.0 ที่ทั่วโลกต้องการคือ การเรียนรู้ที่จะปรับตัว โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน และกลุ่มวัยแรงงานที่ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงในยุคไอที ซึ่งการสร้างทักษะเหล่านี้ได้นั้นจำเป็นต้องวางรากฐานตั้งแต่ปฐมวัย คือ ช่วงอายุ 0-6 ปี

โดยการพัฒนาทักษะสมองเพื่อชีวิตที่สำเร็จ ที่เรียกว่า Executive Function หรือ EF ที่สามารถช่วยให้ควบคุมอารมณ์ ความคิด และการกระทำ เพื่อกำกับตนเองให้เกิดพฤติกรรมที่มุ่งสู่เป้าหมาย ช่วยให้เด็กคิดเป็น ทำงานเป็น เรียนรู้เป็น แก้ไขปัญหาเป็น อยู่ร่วมกับผู้อื่นเป็น และหาความสุขเป็น

จากเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ “Positive Discipline สร้างสัมพันธภาพ เพื่อพัฒนา EF ด้วยวินัยเชิงบวก” ในประชุมวิชาการ EF Symposium 2016 ปลูกฝังทักษะสมอง บ่มเพาะเด็กไทยยุค 4.0 ซึ่งจัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย Thailand EF Partnership ที่ห้องแกรนด์ไดมอนด์บอลรูม ศูนย์การประชุมอิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี

‘ครูใหม่’ หรือ ดร.ปิยวลี ธนเศรษฐกร ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาทักษะสมอง EFs เด็กด้วยการสร้างวินัยเชิงบวก 101 Educare Center ได้เปิดเผย 10 เทคนิคของการสร้างวินัยเชิงบวกไว้อย่างน่าสนใจว่า การสร้างวินัยเชิงบวกเพื่อส่งเสริมทักษะ EF ประกอบด้วย กลุ่มทักษะพื้นฐาน การจำเพื่อใช้งาน ยิ่งมีประสบการณ์มาก ความจำที่จะนำมาใช้งานก็ยิ่งมาก ยั้งคิดไตร่ตรอง สามารถควบคุมตนเองได้ และ ยืดหยุ่นความคิด สามารถเปลี่ยนโฟกัสหรือแนวทางให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

กลุ่มทักษะกำกับตนเอง จดจ่อใส่ใจ สิ่งที่ทำอย่างต่อเนื่อง ควบคุมอารมณ์ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และ ติดตามประเมินตนเอง รู้จุดอ่อนจุดแข็งของตนเอง และ กลุ่มทักษะปฏิบัติ ริเริ่มและลงมือทำ สามารถสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้ วางแผนจัดระบบดำเนินการ จัดลำดับความสำคัญได้ และ มุ่งเป้าหมาย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายไม่ว่าจะมีอุปสรรคใดๆ

10 เทคนิคของการสร้างวินัยเชิงบวก thaihealth

สำหรับ 10 เทคนิคของการสร้างวินัยเชิงบวก ทำได้ไม่ยาก เริ่มตั้งแต่ 1.หลักการทำให้เป็นเรื่องใหญ่ ชื่นชมอย่างเฉพาะเจาะจงเด็กแบบตัวต่อตัว 2.หลักการมองระดับสายตา ทำให้เด็กรู้สึกได้รับความใส่ใจ มีคุณค่าและเชื่อใจ ซึ่งจะทำให้ EF ทำงานได้ดี 3.หลักการให้ทางเลือกเชิงบวก ไม่มีใครชอบให้ใครมาสั่งหรือบังคับ โดยให้ทางเลือก 2 ทาง ซึ่งจะทำให้เด็กคิดเป็น ฝึกทักษะให้เด็กตัดสินใจ มีความคิดยืดหยุ่น ใช้ชีวิตกับสิ่งที่มีอยู่ได้ ใช้สถานการณ์ให้เด็กรับผิดชอบในสิ่งที่เลือก 4.หลักการเบี่ยงเบนพฤติกรรม เช่น เด็กเคาะโต๊ะ ก็ให้เด็กทำอย่างอื่นที่ไม่สามารถเคาะโต๊ะได้ แต่อย่าใช้คำว่าหยุดหรือห้ามทำ เพราะเด็กจะต่อต้านไม่อยากให้ใครมาสั่ง 5.หลักการให้ความสำคัญ ทำให้เด็กรู้สึกมีส่วนสำคัญในสังคม มอบหน้าที่ให้รับผิดชอบ และชื่นชมเด็ก

6.หลักการกระซิบ ไม่ตะโกนใส่เด็กเพราะมนุษย์มีสัญชาตญาณในการปกป้องตัวเอง เด็กจะตัดความสัมพันธ์ แต่ถ้าเป็นเสียงกระซิบจะใส่ใจฟัง 7.หลักการอะไรก่อนหลัง เช่น ทำงานเสร็จแล้วไปเล่นได้เลย เป็นต้น ทั้งนี้การตั้งเงื่อนไขที่ไม่น่าสนใจจะทำให้เด็กต่อต้าน 8.หลักการตั้งเวลา ฝึกให้เด็กรู้จักวางแผน 9.หลักการส่งความรู้สึก เพื่อบอกความรู้สึกของเรา ทำให้เด็กเรียนรู้ว่าทุกการกระทำของเขาส่งผลต่อคนอื่นเสมอ และ 10.หลักการแสดงความเข้าใจ เด็กมีความรู้สึกทุกวันและมีหลายอารมณ์ ให้เด็กรู้ตัวว่ากำลังมีอารมณ์อะไร รับรู้อารมณ์ตัวเอง และรู้ว่าต้องจัดการอะไรกับอารมณ์ของตัวเองและสามารถกำกับตัวเองได้

“EF เป็นต้นกำเนิดของการสร้างวินัยเชิงบวก การเริ่มต้นปลูกฝังนิสัยอะไรกับเด็กก็ตาม ต่อไปจะกลายเป็นนิสัยที่ติดตัว หรือที่เรียกว่า กมลสันดาน การปลูกฝัง EF จะทำให้เด็กไทยมีนิสัยดี หรือ เรียกว่า สันดานสร้างสรรค์ เด็กๆ เรียนรู้จากการเลียนแบบ ซึ่งผู้ใหญ่ต้องเป็นต้นแบบที่ดี จะทำให้เด็กสะท้อนพฤติกรรมดีๆ กลับมา”

Executive Function หรือ EF เป็นเรื่องที่ต้องฝึก ใครทำใครได้ ถ้าคนไทยในยุค 4.0 คิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น แก้ปัญหาเป็น อยู่กับคนอื่นเป็น และหาความสุขเป็น ก็จะอยู่ในสังคมโลกได้อย่างสบาย