โรคแพ้กลูเตน (Coeliac Disease) คือโรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน เกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อโปรตีนกลูเตน ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีอยู่ในพืชจำพวกข้าวสาลี ข้าวไรย์ และข้าวบาร์เลย์ หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแป้งสาลี ทั้งนี้อาการแพ้กลูเตน สามารถส่งผลเสียได้กับทั้งร่างกายและจิตใจ วิธีเดียวที่สามารถทำได้คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำจากแป้ง และข้าวที่มีโปรตีนกลูเตน
อาการแพ้กลูเตนสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย และที่ยิ่งไปกว่านั้นคือ ในแต่ละวัยก็เกิดอาการค่อนข้างแตกต่างกัน โดยเฉพาะในเด็ก หากมีอาการแล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก อาจทำให้เด็กแคระแกร็นได้ และนี่คือสัญญาณของโรคแพ้กลูเตนที่ควรระมัดระวัง เพราะหากมีอาการเหล่านี้แล้ว ก็ฟันธงได้ทันทีว่าคุณกำลังแพ้โปรตีนจากพืชชนิดนี้ และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโปรตีนกลูเตนให้เร็วที่สุด ก่อนที่อาการจะยิ่งเรื้อรัง
มีปัญหาเรื่องระบบขับถ่าย
อาการที่เห็นได้ชัดที่สุดของโรคแพ้กลูเตนก็คือปัญหาเรื่องระบบขับถ่าย เพราะเมื่อระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อโปรตีนกลูเตนแล้ว ก็จะทำให้ระบบขับถ่ายทำงานผิดปกติ ซึ่งอาการที่พบได้บ่อยคือ อาการท้องเสีย ท้องอืด ท้องผูก ปวดท้อง อาการเหล่านี้อาจจะทำให้รู้สึกไม่สบายตัว และมีอาการคลื่นไส้อาเจียนตามมา
รู้สึกอ่อนเพลีย และเหนื่อยง่าย
หากเริ่มรู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยเป็นมาก่อน นั่นอาจเป็นสัญญาณของอาการขาดสารอาหาร เช่น ธาตุเหล็ก วิตามิน ซึ่งเป็นผลพวงจากการที่ลำไส้ไม่สามารถดูดซึมสารอาหารต่าง ๆ ได้ดี อันเนื่องมาจากการแพ้กลูเตนนั่นเอง
อารมณ์แปรปรวน
โรคแพ้กลูเตนไม่ได้ส่งผลถึงร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งผลกระทบถึงภาวะอารมณ์อีกด้วย อาจทำให้รู้สึกซึมเศร้า วิตกกังวล ในกลุ่มผู้หญิงหากอยู่ในช่วงก่อนมีประจำเดือน อารมณ์ก็จะยิ่งแปรปรวนมากขึ้น
เกิดภาวะขาดสารอาหาร
โรคแพ้กลูเตนจะส่งผลให้ลำไส้เล็กเกิดการอักเสบจนไม่สามารถดูดซึมสารอาหารชนิดต่าง ๆ ได้ จึงส่งผลให้ผู้ที่มีอาการแพ้กลูเตนเกิดภาวะขาดสารอาหาร ซึ่งหากไม่ทำการรักษาอย่างทันท่วงทีก็จะยิ่งรุนแรงขึ้น และก่อให้เกิดภาวะโลหิตจาง ภาวะขาดเกลือแร่ และอาจทำให้กล้ามเนื้อลีบลงเนื่องมาจากร่างกายไม่ได้รับโปรตีนอย่างเพียงพอ
ผิวหนังอักเสบ
อาการผิวหนังอักเสบเป็นอาการที่พบได้ในโรคภูมิแพ้เกือบทุกชนิด ซึ่งในโรคแพ้กลูเตนก็เช่นเดียวกัน แต่อาการผิวหนังอักเสบที่เกิดจากการแพ้โปรตีนชนิดนี้ จะมีลักษณะเป็นผื่นคัน คล้ายตุ่มน้ำใส ๆ (Dermatitis Herpetiformis) ตุ่มน้ำจะแตกเมื่อเกา อาจะขึ้นได้ทั่วร่างกาย มักขึ้นบริเวณข้อศอก เข่า และก้น โดยอาการนี้จะหายไปหากปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหารมาเป็นอาหารที่ไม่มีโปรตีนกลูเตน
น้ำหนักลดผิดปกติ
น้ำหนักที่ลดลงอย่างผิดปกติทั้ง ๆ ที่รับประทานอาหารได้ปกติ คือผลกระทบที่เกิดจากโรคแพ้กลูเตน เพราะเมื่อภูมิคุ้มกันตอบสนองต่ออาการแพ้จนทำให้เกิดภาวะลำไส้เล็กอักเสบ ร่างกายก็จะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ บางรายโดยเฉพาะในเด็กอาจถึงขั้นส่งผลต่อการเจริญเติบโตได้เลยทีเดียว
ลักษณะอุจจาระผิดปกติ
หากอาการแพ้กลูเตนกำเริบ สิ่งที่จะเห็นได้ชัดก็คือ อุจจาระของผู้ป่วยจะมีลักษณะที่ผิดปกติไปจากเดิม โดยอาจจะมีสีที่อ่อนลง มีไขมันปะปนในอุจจาระ และมีกลิ่นที่เหม็นผิดปกติ ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถดูดซึมไขมันและถูกขับถ่ายออกมา ในผู้ใหญ่ลักษณะอุจจาระจะค่อนข้างเหลว แต่ในเด็กอาจพบว่าถ่ายลำบากหรืออุจจาระแข็ง
หากสังเกตพบอาการเหล่านี้แล้ว สิ่งที่ควรทำคือหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโปรตีนกลูเตน ได้แก่ ข้าวสาลี ข้าวไรย์ ข้าวบาร์เลย์ รวมทั้งอาหารที่ทำจากแป้งสาลีทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเส้นพาสต้า เบเกอร์รี่ หรืออาหารที่มีส่วนผสมของแป้งข้าวสาลี เพราะการรับประทานเพียงนิดเดียวก็ก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ และในบางรายแค่เพียงการสัมผัสอาหารหรือสิ่งที่มีส่วนประกอบของโปรตีนกลูเตนก็สามารถก่อให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นกัน จึงควรหลีกเลี่ยงการแตะต้องสิ่งของหรืออาหารด้วยจะดีที่สุด
นอกจากนี้หากผู้ป่วยเป็นเด็ก ผู้ปกครองควรแจ้งกับทางโรงเรียน หรือผู้ที่คอยดูแลเด็กถึงอาการแพ้ เพื่อให้คอยช่วยสอดส่องและเพิ่มความระมัดระวังในเรื่องการรับประทานอาหารของเด็กให้มากขึ้น
แม้ว่าโรคแพ้โปรตีนกลูเตนจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เพื่อหลีกเลี่ยงแป้งในกลุ่มที่มีโปรตีนกลูเตนก็สามารถช่วยให้อาการของโรคสงบลงได้ ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการดูแลสุขภาพ ก็ควรทำภายใต้การแนะนำของแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อการรักษาจะได้เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ที่มา :pobpad.com