หูด เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง เกิดจากการติดเชื้อไวรัส พบได้ทุกเพศทุกวัย นอกจากนี้ ยังมักพบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน


ลักษณะของหูดจะเป็นตุ่มนูนแข็ง มีรากอยู่ข้างใต้ มีเม็ดเดียว หรือหลายเม็ดก็ได้ ขนาดแตกต่างกันไป มีทั้งชนิดผิวขรุขระ ซึ่งมักพบได้บ่อยบริเวณมือและเท้า ส่วนที่ใบหน้ามักจะเป็นหูดเม็ดแบนๆ เล็กๆ มีผิวเรียบ ส่วนใหญ่มักพบในเด็ก

ส่วนหูดที่บริเวณฝ่าเท้า จะมีลักษณะเป็นไต อาจเป็นแผ่นหนาแข็ง เป็นปื้น ขนาดใหญ่กว่าหูดธรรมดา เวลาเดินจะเกิดการกดทับ ทำให้มีอาการเจ็บมากคล้ายกับเป็นตาปลา
หูดกับตาปลาต่างกันอย่างไร
– หูดเกิดจากเชื้อไวรัส
– หูดพบได้หลายตำแหน่ง เช่น มือ เท้า แขน ขา หน้าผาก
– หูดติดต่อกันได้ แพร่กระจายได้
– หากฝานบางๆ ที่ตัวหูด จะพบว่ามีจุดเลือดออกเล็กๆ ของเส้นเลือดที่มาเลี้ยงหูด

หูดติดต่อกันอย่างไร
ผู้ที่เป็นหูดส่วนใหญ่มักจะได้รับเชื้อไวรัสมาจากการสัมผัสโดยตรง ผิวหนังที่ถลอก มีแผล หรือถูกกดทับ จะติดเชื้อหูดได้ง่าย การแกะจะทำให้เชื้อแพร่กระจาย จากเม็ดเดียวกลายเป็นหลายเม็ด หรือไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้

วิธีการรักษาหูด
1.ทายากัดหูด เช่น ยากลุ่มกรดซาลิซิลิก ยาน้ำคอลโลแมค ดูโอฟิล์ม เป็นต้น ถ้าเป็นหูดเม็ดเล็กๆ หรือเป็นไม่มากนัก หรือหูดในเด็กๆ ใช้ยาทาแต้มหูดวันละ 2-3 ครั้ง ประมาณ 4-6 สัปดาห์ โดยทาวาสลินรอบๆ หูดด้วย เพื่อป้องกันยากัดผิวหนังปกติ การทายานี้ได้ผลดีพอใช้ อาจต้องใช้ระยะเวลานาน ขึ้นอยู่กับขนาดของหูด แต่จะไม่เจ็บ ไม่เสียเลือด และไม่เป็นแผลเป็น
2.จี้เย็นด้วยไนโตรเจนเหลว วิธีนี้ไม่เจ็บมากนัก และไม่เป็นแผลเป็น แต่อาจต้องจี้ซ้ำหลายครั้งกว่าจะหายขาด

3.จี้ด้วยไฟฟ้า วิธีนี้จะได้ผลดีถ้าจี้ออกหมด แต่เจ็บและอาจเป็นแผลเป็นได้
4.จี้ด้วยเลเซอร์ ได้ผลดีเช่นกัน แต่ค่าใช้จ่ายสูงกว่าการจี้ด้วยไฟฟ้า แต่อาจให้ผลดีกว่าในรายของหูดที่เกิดในซอกเล็บซึ่งรักษายาก
5.การผ่าตัดเอาหูดออก วิธีนี้ไม่ค่อยนิยมทำกัน เพราะเจ็บทั้งขณะผ่าและหลังผ่าอีกหลายวัน

วิธีที่เป็นอันตรายและไม่แนะนำ ก็คือ การใช้ธูปจี้ การใช้มีดหรือของมีคมเฉือนออกเอง เพราะจะทำให้เป็นแผลเป็น หรืออาจทำให้แผลอักเสบติดเชื้อได้

อย่างไรก็ตาม หูดอาจหายเองได้ แต่ส่วนใหญ่จะใช้เวลาหลายเดือนหรือเป็นปี จึงควรรักษาความสะอาดเพื่อไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย แต่ถ้าเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำจะติดเชื้อและลุกลามได้ง่าย เป็นแล้วหายยาก จึงควรรีบรักษาแต่เนิ่นๆ และหมั่นรักษาความสะอาด เพราะถึงแม้หูดจะสามารถหายได้ แต่ก็อาจติดเชื้อใหม่ได้อีก

หูด...ต่างกับตาปลาอย่างไร โดย เอมอร คชเสนี
หูด...ต่างกับตาปลาอย่างไร โดย เอมอร คชเสนี