มัลเบอรี่ (Mulberry) หรือลูกหม่อน เป็นผลไม้รสหวานลูกเล็ก ๆ ที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางสารอาหาร ทั้งยังเชื่อกันว่ามีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพสารพัด จึงเป็นที่นิยมในการบริโภคมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงหลังมานี้

Mulberry

มัลเบอรี่สด 1 ถ้วย หรือประมาณ 140 กรัม ให้พลังงาน 60 แคลอรี่ มีคาร์โบไฮเดรต 9.8 กรัม เส้นใยอาหาร 1.7 กรัม และไขมัน 0.4 กรัม แต่หากนำไปอบแห้งจะมีคาร์โบไฮเดรต 70 กรัม เส้นใยอาหาร 14 กรัม ไขมันทั้งหมด 3 กรัม และโปรตีน 12 กรัม ซึ่งปริมาณโปรตีนในมัลเบอรี่อบแห้งนั้นถือว่ามีมากกว่าผลไม้อบแห้งชนิดอื่น ๆ

นอกจากนี้ มัลเบอรี่ยังอุดมไปด้วยวิตามินซี ธาตุเหล็ก วิตามินเค 1 วิตามินอี และโพแทสเซียม รวมถึงสารพฤกษาเคมีที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ เช่น แอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ไซยานิน (Cyanidin) กรดคลอโรจีนิก (Chlorogenic acid) ไมริซีทิน (Myricetin) และรูติน (Rutin) ทำให้เริ่มมีงานวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของผลไม้ชนิดนี้ต่อการรักษาและป้องกันโรคต่าง ๆ มากขึ้น แม้ในปัจจุบันจะยืนยันไม่ได้อย่างชัดเจนนัก แต่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เหล่านี้ก็ถือเป็นแนวทางสำคัญในการศึกษาขั้นต่อไป

คุณประโยชน์ของมัลเบอรี่ที่มีต่อสุขภาพ

ลดระดับน้ำตาลในเลือด คุณสมบัติอันเป็นที่นิยมของมัลเบอรี่ข้อนี้มีผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์บางงานที่กล่าวสนับสนุน งานวิจัยหนึ่งศึกษาประสิทธิภาพในการลดระดับน้ำตาลในเลือดของชามัลเบอรี่กับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 48 คน การทดลองแบ่งเป็นกลุ่มดื่มชาธรรมดาและกลุ่มดื่มชามัลเบอรี่ โดยให้ทั้ง 2 กลุ่มดื่มชาใส่น้ำตาล 1 ช้อนชาในปริมาณ 70 มิลลิลิตร จากนั้นจึงวัดระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหารใน 90 นาทีต่อมา ผลปรากฏว่ากลุ่มที่ดื่มชามัลเบอรี่มีระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำกว่าอีกกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญ จึงอาจเป็นไปได้ว่าชามัลเบอรี่มีคุณสมบัติช่วยคุมระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหารของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ได้

งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งพบผลลัพธ์ในทางที่สอดคล้องกัน หลังจากศึกษากับผู้มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติจำนวน 36 คน ที่รับประทานสารสกัดจากใบมัลเบอรี่เป็นเวลาติดต่อกัน 4 สัปดาห์ แล้วพบว่าผู้เข้าร่วมทดลองมีระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหารลดลง โดยเฉพาะในช่วง 30 หรือ 60 นาทีหลังจากรับประทานอาหารเสริมมัลเบอรี่ รวมทั้งมีระดับอินซูลินลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ผลที่ปรากฏดังตัวอย่างงานวิจัยเหล่านี้ นักวิจัยคาดว่าเนื่องจากในใบมัลเบอรี่อุดมด้วย 1-deoxynojirimycin อันเป็นสารยับยั้งเอนไซม์แอลฟากลูโคซิเดสจากแหล่งธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยชะลอการเพิ่มกลูโคสในกระแสเลือด ทำให้อาจมีฤทธิ์ช่วยรักษาโรคเบาหวานชนิดไม่พึ่งพาอินซูลินหรือเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ อย่างไรก็ตาม การศึกษาที่มีในขณะนี้เป็นเพียงงานวิจัยขนาดเล็กและยังไม่อาจระบุอย่างแน่ชัดว่าควรใช้มัลเบอรี่ในรูปแบบและปริมาณเท่าใดจึงจะปลอดภัยและให้ผลดีที่สุด

ลดระดับไขมันในเลือด นอกจากประสิทธิภาพในการลดระดับน้ำตาลในเลือด ยังเป็นที่น่าสนใจว่าสาร 1-deoxynojirimycin อันมีมากในใบมัลเบอรี่นั้นจะส่งผลดีต่อระดับไขมันในเลือดเช่นเดียวกันหรือไม่ จากการทดลองกับผู้เข้าร่วมกลุ่มเล็ก ๆ จำนวน 10 คนที่มีระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป โดยให้ทั้งหมดรับประทานแคปซูลสารสกัดชนิดดังกล่าวจากใบมัลเบอรี่วันละ 3 ครั้งก่อนอาหาร ครั้งละ 12 มิลลิกรัม เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ ผลลัพธ์เผยให้เห็นว่ามัลเบอรี่ช่วยให้ผู้เข้าร่วมมีไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ลดลงในระดับปานกลาง รวมทั้งมีระดับไขมันในเลือดเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี และไม่พบผลข้างเคียงจากการใช้

เช่นเดียวกับงานวิจัยปีต่อ ๆ มาที่ศึกษาในลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่กลุ่มตัวอย่างมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่างานวิจัยแรก ผู้ป่วยไขมันในเลือดสูงระดับไม่รุนแรงจำนวน 24 คน ได้รับผงสกัดจากใบมัลเบอรี่ในรูปแบบเม็ด 280 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้งก่อนมื้ออาหาร ติดต่อกัน 12 สัปดาห์ ผลการทดลองชี้ให้เห็นว่าการบริโภคสารสกัดจากใบมัลเบอรี่ช่วยให้ผู้ป่วยมีระดับไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์และไขมันชนิดไม่ดีลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ผู้ป่วยจำนวนมากกว่าครึ่งยังมีระดับค่าเฉลี่ยและค่าบ่งชี้การอักเสบในร่างกาย (C-reactive Protein: CRP) น้อยลงทุกเดือน ซึ่งค่านี้เป็นตัวบ่งบอกการอักเสบของหลอดเลือดในผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง การรับประทานมัลเบอรี่จึงน่าจะเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการลดระดับไขมันในเลือดและภาวะแทรกซ้อนจากไขมันในเลือดสูง หากในอนาคตมีการศึกษาที่น่าเชื่อถือและมีขนาดใหญ่ยิ่งขึ้นมาช่วยยืนยันเพิ่มเติม

ป้องกันมะเร็ง การแพทย์แผนจีนใช้มัลเบอรี่เป็นสมุนไพรต้านมะเร็งมาช้านาน ทว่าการศึกษาทางวิทยาศาตร์เกี่ยวกับประสิทธิภาพด้านนี้กับมนุษย์โดยตรงยังมีไม่มากนัก การทดลองในห้องปฏิบัติการชิ้นหนึ่งที่ใช้สารสกัดจากเปลือกต้นมัลเบอรี่หยดลงบนเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ของคน แสดงให้เห็นว่าสารดังกล่าวมีฤทธิ์ต้านการอักเสบและยับยั้งมะเร็ง เช่นเดียวกับงานวิจัยในสัตว์เมื่อไม่นานมานี้ที่ชี้ว่าการจำกัดปริมาณแคลอรี่และผสมสาร 1-deoxynojirimycin จากมัลเบอรี่ในอาหารของหนูที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ช่วยฆ่าและยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ นอกจากนี้ การพิสูจน์ประสิทธิภาพของมัลเบอรี่ต่อมะเร็งชนิดอื่น ๆ ก็มีปรากฏให้เห็นบ้าง เช่น การทดสอบคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระของสารพอลีฟีนอลิก เฟอร์ริก และสารประกอบฟีนอลิกที่สกัดจากมัลเบอรี่ต่อเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากในหลอดทดลอง ซึ่งพบว่าสารเหล่านี้ต่างมีฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็ง

อย่างไรก็ตาม การศึกษาข้างต้นล้วนทดลองกับสัตว์หรือเซลล์มะเร็งเท่านั้น จึงไม่อาจมั่นใจได้ว่าผลลัพธ์จะเป็นเช่นเดียวกัน หากนำมัลเบอรี่มาใช้รักษาโรคมะเร็งในคน คงต้องรอให้มีการออกแบบการทดลองในคนและมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือมากกว่านี้ จึงจะยืนยันได้ว่ามัลเบอรี่มีสรรพคุณต้านหรือรักษามะเร็งได้มากน้อยเพียงใด

บำรุงความจำ ผลไม้ตระกูลเบอรี่นั้นขึ้นชื่อเรื่องการช่วยบำรุงและป้องกันการเสื่อมถอยของความจำ ซึ่งมัลเบอรี่ก็มักถูกกล่าวถึงคุณประโยชน์ด้านนี้ ทางวิทยาศาสตร์ได้หาคำตอบโดยทดลองให้หนูกินสารสกัดจากมัลเบอรี่ 2 กรัม 10 กรัม หรือ 50 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ในช่วงก่อนหน้าที่จะถูกทำให้เส้นเลือดในสมองบริเวณซีรีบรัลส่วนกลางอุดตัน 7 วัน และหลังจากนั้นอีก 21 วัน ผลลัพธ์พบว่าหนูที่ได้รับมัลเบอรี่มีประสิทธิภาพการทำงานของสมองดีขึ้น ที่เป็นเช่นนี้คาดว่ามัลเบอรี่อาจมีคุณสมบัติช่วยลดกระบวนการเกิดอนุมูลอิสระที่ทำให้เซลล์เสียหายและตายลง ส่งผลให้สมองส่วนการเรียนรู้และความจำทำงานได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งช่วยปกป้องเซลล์ประสาทจากการถูกทำลาย

อีกงานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของมัลเบอรี่ต่อการบำรุงสมองและลดกระบวนการอนุมูลอิสระเช่นเดียวกัน โดยให้หนูที่มีอายุมากกลุ่มหนึ่งกินน้ำตาลกาแลคโตส 100 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม กลุ่มที่เหลือกินน้ำตาลกาแลคโตสกับสารสกัดจากมัลเบอรี่ 50 กรัม หรือ 100 กรัมต่อน้ำหนักตัว เป็นเวลา 8 สัปดาห์ ผลปรากฏว่าหนูที่สมองเสื่อมถอยมีการเรียนรู้และจดจำได้ดีขึ้น โดยคาดว่าเป็นเพราะมัลเบอรี่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง จึงช่วยป้องกันไม่ให้เซลล์สมองเสียหายจากกระบวนการดังกล่าว ไม่แน่ว่าในอนาคตมัลเบอรี่อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการป้องกันหรือรักษาภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ หากมีการศึกษาในขั้นต่อไปกับมนุษย์และสรุปได้ว่ามีความปลอดภัยและได้ผลจริง

ป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ อีกหนึ่งคุณประโยชน์ของมัลเบอรี่ที่มีการกล่าวถึงมาก ซึ่งแม้ทางวิทยาศาสตร์จะถกเถียงกันถึงประสิทธิภาพในการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจของสารไซยานิดิน 3 กลูโคไซด์ (Cyanidin 3-Glucoside: C3G) ซึ่งมีอยู่มากที่สุดในผลมัลเบอรี่ แต่ก็ยังไม่พบหลักฐานการศึกษาอย่างจริงจังและเชื่อถือได้ สรรพคุณข้อนี้ของมัลเบอรี่จึงต้องรอการพิสูจน์อีกมาก ผู้ที่ต้องการทดลองใช้ควรคำนึงถึงความปลอดภัยและเหมาะสมด้วย

ความปลอดภัยของการใช้มัลเบอรี่รักษาโรค

ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลการศึกษามากพอที่จะสรุปได้ว่าการรับประทานมัลเบอรี่หรืออาหารเสริมที่สกัดจากผลไม้ชนิดนี้เพื่อจุดประสงค์ทางการรักษาโรคนั้นปลอดภัยต่อสุขภาพหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ในกรณีต่อไปนี้ควรระมัดระวังการใช้มัลเบอรี่เป็นพิเศษ

  • หญิงตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงการรับประทานมัลเบอรี่โดยหวังประโยชน์ในการรักษาโรคใด ๆ เนื่องจากไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือรับรองได้ว่าจะปลอดภัยต่อคุณแม่และทารก
  • ผู้ที่แพ้ได้ง่ายอาจมีอาการแพ้เมื่อรับประทานมัลเบอรี่ โดยมีรายงานว่าบางรายแพ้เกสรจากต้นมัลเบอรี่ นอกจากนี้ หากมีอาการแพ้มัลเบอรี่ดำอาจมีอาการแพ้มะเดื่อฝรั่งหรือลูกฟิกด้วยเช่นกัน
  • ผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องการใช้มัลเบอรี่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ เพราะอาจต้องปรับลดปริมาณยารักษาโรคเบาหวาน เพื่อไม่ให้น้ำตาลลดต่ำจนเกินไป ทั้งนี้ ไม่ควรปรับลดปริมาณยาด้วยตนเอง และควรหมั่นตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ
  • หากต้องเข้ารับการผ่าตัด ควรหยุดใช้ล่วงหน้าอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เนื่องจากมัลเบอรี่อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำและส่งผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดช่วงระหว่างและหลังการผ่าตัด
    ที่มา :https://www.pobpad.com/%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B9%88-%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B9%8C%E0%B8%94%E0%B8%B5