อาการปวดหลังบริเวณบั้นเอว อาการปวดหลังดังกล่าวนั้นจะเกิดได้ 2 ช่วง ถ้าปวดหลังภายใน 3 เดือน ในทางสากลเรียกว่า ปวดหลังฉับพลัน แต่ถ้าปวดนานเกิน 3 เดือน เรียกว่าปวดหลังเรื้อรัง อาการปวดหลังนั้น ไม่เหมือนกันทุกคน บางครั้งเกิดทันทีทันใด บางคนเกิดขึ้นช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป บางคนเป็นๆ หายๆ อย่างไรก็ตาม กลุ่มอาการปวดหลังภายใน 3 เดือนมักหายเองได้ภายใน 2 – 3 สัปดาห์ ถ้าได้รับการพักผ่อนเพียงพอ
สาเหตุของการปวดหลัง
เกิดได้จากหลายสาเหตุ บางครั้งเกิดจากการบิดหมุนตัว ก้มหลังมากไป การนั่งผิดท่า เช่น นั่งหลังโก่ง นั่งบิด แต่ถ้ามีอายุมากขึ้น โอกาสที่จะปวดหลังมีได้มากจากสาเหตุต่างๆ โดยเฉพาะ จากการเสื่อมสภาพของร่างกาย การเสื่อมของข้อต่อกระดูกสันหลังนั้นเริ่มเกิดขึ้นได้ ตั้งแต่อายุ 30 ปี บางคนอาจมีอายุน้อยกว่านี้ ถ้าทำงานที่เกี่ยวกับการยกของหนัก แบกหาม ผลักดันสิ่งของอย่างต่อเนื่อง บางคนที่มีอายุมากขึ้นอาจมีอาการปวดหลังไม่มาก หรืออาจจะมีแต่ทนได้ก็ได้
ลักษณะอาการปวดหลัง
อาการปวดหลังแตกต่างกัน เช่น ปวดตื้อๆ ปวดเสียดแทง ปวดตุ๊บๆ ปวดแบบหดรั้งกดรัด ปวดร้าวลงขา ปวดหรือเจ็บจนไม่สามารถเคลื่อนไหวหลังได้ ก้มตัวไม่ได้เพราะเจ็บ โดยลักษณะอาการปวดนั้นมักขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค บางคนเชื่อว่าการนอน จะช่วยลดการปวดหลังได้ ไม่ว่าการปวดหลังจะมีสาเหตุจากอะไรก็ตาม เรื่องการนอนนานๆ อาจไม่ได้ช่วยให้อาการปวดหลังดีขึ้นเสมอ มิหนำซ้ำอาจทำให้หายช้าได้ด้วย
อาการปวดหลังช่วงล่างที่ต้องรีบพบแพทย์
1.อาการปวดจะมากขึ้น ถ้าก้ม หรือยกของหนัก
2.อาการอาจเป็นมาก ถ้านั่งนานๆ
3.การยืน เดิน อาจทำให้มีอาการปวดเพิ่มขึ้น
4.อาการปวดหลัง อาจเป็นๆ หายๆ บางวันหาย บางวันปวดมาก
5.อาการปวดหลัง อาจเกิดร่วมกับอารมณ์ที่แปรปรวนได้
6.อาการปวดหลัง อาจปวดร้าวไปที่สะโพก แก้มก้น ด้านหลังของโคนขา แต่จะไม่ร้าวลงต่ำกว่าระดับข้อเข่า
7.อาการปวดหลัง อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย คือ ปวดร้าวลงไปต่ำกว่าระดับข้อเข่าไปถึงส้นเท้าปลายเท้าได้, อาจทำให้กำลังนิ้วเท้า ข้อ เท้า อ่อนแรง และมีอาการชาๆ ปลายเท้า ภาวะเหล่านี้มักเกิดจากหมอนกระดูกสันหลังเลื่อนกดทับรากประสาทสันหลัง หรือเกิดเนื้องอกในช่องไขสันหลังได้
8.อาการปวดหลังอาจมีอาการอย่างอื่นอีก เช่น มีไข้ หนาวสั่น เหงื่อออกในเวลากลางคืน หรือมีน้ำหนักลดมากในช่วงเวลาสั้น
ไม่ว่าท่านจะมีอายุเท่าไหร่ ถ้ามีอาการปวดหลัง และมีอาการอื่นๆ ดังกล่าวแล้ว และถ้ารักษาตามปกติ อาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 – 3 สัปดาห์ ท่านควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัย และการรักษาที่ถูกต้อง และสมบูรณ์แบบต่อไป คนที่ปวดหลังอย่างเดียวไม่มีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เรียกว่า การปวดหลังที่ไม่ทราบสาเหตุ หรือ ภาษาอังกฤษ เรียกว่า Non specific low back pain แต่ถ้าปวดหลัง และมีพยาธิสภาพที่กระดูกสันหลังชัดเจน เช่น กระดูกสันหลังหัก โรคติดเชื้อ มะเร็งกระดูก หมอนรองกระดูกเคลื่อน เราเรียกภาวะร่วมนี้ว่า Red Flag หรือธงแดง คือว่า เป็นเรื่องค่อนข้างรุนแรง และบางโอกาสร้ายแรง
การรักษาอาการปวดหลัง
หลักการรักษามีอยู่ 3 วิธี ขึ้นกับการวินิจฉัยโรค และความรุนแรงของโรค คือ การรักษาทางยา การรักษาด้วยวิธีไม่ใช้ยา (กายภาพบำบัด) และการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด
การรักษาทางยา
มียาหลายประเภทที่จะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดได้ คือ
- ยากลุ่ม Acetaminophen เช่น Paracetamol ใช้รักษาอาการปวดหลังได้ดี โดยเฉพาะกลุ่ม Nonspecific low back pain ผู้ป่วยกลุ่มนี้ใช้รักษา1-2 สัปดาห์ จะช่วยให้อาการปวดหายได้ แต่ถ้าใช้ยานี้ติดต่อกันนานๆ จะมีผลเสียต่อตับ ไต และเซลล์เม็ดเลือดในไขกระดูกได้
- ยากลุ่มต้านการอักเสบ (Non steroid anti inflammatory drugs – NSAIDs) จะลดการอักเสบของข้อต่อ กล้ามเนื้อหลัง เอ็นข้อต่อ ตัวอย่างยาเช่น Ibuprofen, naproxen, piroxicam และอื่นๆ
- ยากลุ่มนี้ถ้าใช้ติดต่อกันนาน จะมีผลเสียเช่นกัน เพราะจะทำลายเนื้อเยื่อตับ ไต และเซลล์เม็ดเลือดในไขกระดูก ปกติใช้ได้ 2-3 สัปดาห์ อาการเจ็บปวดจะหายได้
- กลุ่มยาเสพติดบางอย่าง เช่น Codeine, Morphine อาจใช้ได้เป็นครั้งคราว แต่ควรให้แพทย์สั่ง เพราะอาจติดยาได้ถ้าใช้บ่อยๆ
- ยาคลายกล้ามเนื้อ ช่วยลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อได้ จะลดอาการเจ็บปวดได้ดี
- กลุ่มยาประเภทสเตอรอยด์ ซึ่งอาจใช้รับประทาน หรือชนิดฉีดเข้าไขสันหลัง ปกติยากลุ่มนี้ไม่ควรใช้ เพราะมีผลเสียต่อระบบต่างๆ ของร่างกายมาก จะต้องอยู่ในความดูและ สั่งการใช้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น.
การรักษาด้วยวิธีไม่ใช้ยา
คือ การรักษาทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู และกายภาพบำบัด ถ้าการรักษาทางยาอย่างเดียวยังไม่พอ การรักษาทางกายภาพบำบัด จะช่วยลดอาการปวดได้มาก บางครั้งการรักษาด้วยวิธีกายภาพบำบัดอย่างเดียวสามารถช่วยลดความเจ็บป่วยโดย ไม่ต้องใช้ยารักษา วิธีรักษาด้วยกายภาพบำบัด มีดังนี้ :-กายภาพบำบัด
- เช่น การใช้ความร้อนที่เหมาะสม ความเย็นที่เหมาะสม การนวด ใช้ Ultra sound และการกระตุ้นด้วยไฟฟ้ากายภาพบำบัดจะรวมถึงการสอนให้ผู้ป่วยทำเองด้วย เช่น การยืดกล้ามเนื้อแขน ขา ลำตัว, การยกน้ำหนักที่เหมาะสม, การเดินหรือวิ่งตามอัตภาพ จะช่วยลดความเจ็บปวด และช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรง ข้อต่อมีพลังในการเคลื่อนไหวได้คล่องตัวด้วย
- การใช้เครื่องพยุงหลัง หรือเข็มขัดรัดหลัง จะช่วยพยุงหลังลดการเจ็บปวดได้ ในกรณีที่หลังท่านไม่แข็งแรง จะช่วยให้ท่านรู้สึกสบาย ผ่อนคลาย แต่การใช้เครื่องพยุงนานๆ จะทำให้กล้ามเนื้อหลังลีบ ไม่มั่นคงแข็งแรง เพราะโอกาสที่จะบริหารกล้ามเนื้อหลังน้อย การใช้เครื่องพยุงหลัง ควรให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้สั่ง
- การนวดดัดหลัง มีวิธีต่างๆ มากมาย ซึ่งทำโดยนักกายภาพบำบัด หรือ Chiropractor ผู้ทำต้องมีความระมัดระวัง บางรายหายดี แต่บางรายปวดมากขึ้น
- การดึงหลัง จะมีประโยชน์ในผู้ที่ปวดหลัง และปวดร้าวลงขา กล้ามเนื้อหดเกร็ง หมอนกระดูกสันหลังเลื่อน บางรายได้ผลดี แต่บางรายปวดมากขึ้น
- การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เช่น โยคะ อาจหายได้ แต่บางรายปวดมากขึ้น เพราะทำผิดท่า การฝังเข็มบางรายได้ผล แต่ได้ผลในช่วงระยะสั้น เพราะไม่ได้รักษาต้นเหตุที่แท้จริง
การรักษาด้วยวิธีผ่าตัด
จะรักษาด้วยวิธีผ่าตัด เมื่อการรักษาด้วยวิธีอนุรักษ์นิยม เช่น การรักษาทางยา กายภาพบำบัด และอื่นๆ นาน 3 – 6 เดือนแล้ว ไม่หาย ในรายที่จะต้องผ่าตัดรักษา ศัลยแพทย์จะต้องอธิบายพยาธิสภาพที่เกิดกับกระดูกสันหลังให้ท่านรับทราบก่อน รวมทั้งขอดีข้อเสีย และภาวะแทรกซ้อนต่างๆด้วย มีผลตรวจด้วยภาพรังสี, CT Scan or MRI ที่ชี้ชัดว่ากระดูกสันหลังมีพยาธิสภาพ ก่อนการผ่าตัดแพทย์จะต้องตรวจสุขภาพของผู้ป่วยว่าสมบูรณ์แข็งแรงพอที่จะทน การดมยาสลบผ่าตัดได้ และมีปัจจัยเสี่ยงหรือไม่
ศ.เกียรติคุณ นพ. เจริญ โชติกวณิชย์
ปริญญาบัตร/วุฒิบัตร
แพทยศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล ปี พ.ศ. 2504
สาขาออร์โธปิดิกส์ ศัลยกรรมกระดูกและข้อ