วันผู้สูงอายุสากล (International Day of Older Persons) ตรงกับวันที่ 1 ต.ค.ของทุกปี โดยองค์การสหประชาชาติกำหนดขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 1 ต.ค.2534 องค์การสหประชาชาติได้ให้ความหมายคำว่า ผู้สูงอายุ คือ บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไปทั้งชายและหญิง เพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของผู้สูงอายุ ที่ได้สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ให้กับสังคมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยวันที่ 1 ตุลาคม 2559 องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดแนวทางวันผู้สูงอายุสากล ปี 2016 คือ Take a Stand Against Ageism “ให้โอกาส และบทบาทที่สำคัญแก่ผู้สูงอายุ”

ในประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2547 และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2567 หรืออีก 15 ปีข้างหน้า ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) โดยจากข้อมูลของ United Nations World Population Ageing พบว่า หลังจากปี 2552 ประชากรที่อยู่ในวัยพึ่งพิงได้แก่ เด็กและผู้สูงอายุ จะมีจำนวนมากกว่าประชากรในวัยแรงงาน และในปี 2560 จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ประชากรเด็กน้อยกว่าผู้สูงอายุ สถานการณ์นี้เป็นผลมาจากการลดภาวะเจริญพันธุ์อย่างรวดเร็ว และการลดลงอย่างต่อเนื่องของระดับการตายของประชากร ทำให้จำนวนและสัดส่วนประชากรสูงอายุของไทย เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากข้อมูลประชากรสูงอายุในประเทศไทย ปี 2557 มีผู้สูงอายุมีจำนวน 10,014,705 คน (ร้อยละ 14.9) มีผู้สูงอายุที่ยังคงทำงาน ร้อยละ 38.4 และจากข้อมูลการทำงานของผู้สูงอายุในประเทศไทย ปี 2558 มีผู้สูงอายุ ร้อยละ 15.6 ของจำนวนประชาการทั้งประเทศ  โดยผู้สูงอายุ ร้อยละ 37.3 ยังคงทำงาน และมีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
ผู้สูงอายุที่คิดว่าตัวเองเป็นภาระให้กับผู้อื่นอาจจะรู้สึกว่าชีวิตของตนเองนั้นด้อยค่าตามไปด้วย ส่งผลให้พวกเขาเผชิญความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าและแยกตัวจากสังคม โดยผลวิจัยชี้ว่า ผู้สูงอายุที่มีทัศนคติต่อความชราภาพไปในเชิงลบจะมีอายุยืนยาวน้อยกว่าผู้สูงอายุที่มีทัศนคติต่อความชราภาพไปในเชิงบวกถึง7.5 ปี    การเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้มีโอกาสทำงาน ช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองยังมีค่า สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข
อย่างไรก็ตามผู้สูงอายุแต่ละคนมีความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ไม่เท่ากัน ปัจจัยที่ทำให้เกิดความแตกต่างนี้ไม่ใช่เฉพาะเรื่องอายุเพียงอย่างเดียว แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมาตลอดชีวิตก็เป็นปัจจัยสำคัญด้วย ผู้สูงอายุที่ตลอดช่วงชีวิตได้รับการฝึกอบรมทักษะต่างๆ หรือมีการศึกษาเรียนรู้เรื่องต่างๆ มามาก หรือคนที่ทำงานมาหลากหลายรูปแบบ คนเหล่านี้เป็นผู้เรียนที่มีประสบการณ์ ซึ่งมักจะเรียนรู้ทักษะใหม่หรือพัฒนาทักษะเดิมที่มีอยู่แล้วได้ไม่ยาก ซึ่งการเตรียมความพร้อมของผู้ที่จะก้าวเข้าสู่ความสูงวัย จะช่วยให้ผู้สูงอายุอยู่ได้อย่างมีคุณค่า โดยการสร้างคุณค่าให้ตนเอง ทำสิ่งดีๆให้กับตนเอง ผู้อื่น และมีเป้าหมายในชีวิต สร้างสุขภาพกายใจ ดูแลเรื่องอาหาร ตรวจสุขภาพ ฝึกจิตใจ ทำจิตใจให้สดชื่น สร้างกิจกรรมที่หลากหลาย ทำกิจกรรม เข้าชมรมต่างๆ
ทั้งนี้หน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน ควรร่วมกันดำเนินงานเพื่อคุ้มครอง ส่งเสริม และสนับสนุนสถานภาพ บทบาท และกิจกรรมของผู้สูงอายุ รวมทั้งการขยายเกณฑ์กำหนดเกษียณอายุจาก 60 ปี เป็น 65 ปี เพื่อให้ผู้สูงอายุมีรายได้และได้ใช้ประสบการณ์และศักยภาพอย่างเต็มที่ ทำให้ผู้สูงอายุมีความรู้สึกว่า ตนเองไม่ได้ไร้ค่า และสามารถทำประโยชน์ให้กับตนเองและสังคมได้

 

*********************

เรียบเรียงโดย นายอานนท์ ฉัตรทอง นักวิชาการสาธารณสุข กองสุขภาพจิตสังคม

เอกสารอ้างอิง :
– การสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย พ.ศ. 2557 สำงานสถิติแห่งชาติ
– การทำงานของผู้สูงอายุในประเทศไทย พ.ศ. 2558 สำนักงานสถิติแห่งชาติ
– เอกสารสังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ กรมพัฒนางานผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
– World Population Ageing:  1950-2050 of Department of Economic and Social Affairs
Population Division http://www.un.org/esa/population/publications/worldageing19502050/pdf/91chapterv.pdf

Click to access WPA2015_Report.pdf

– เสนอเพิ่มอายุเกษียณ 60 – 65 ปี เพิ่มเงินสะสมกองทุนชราภาพ. หนังสือพิมพ์มติชน. ฉบับวันที่ 2 พฤศจิกายน 2549.